ชำแหละงบฯ กทม.ปี"49 วงเงิน 3.5 หมื่นล้าน ชสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่ง 4,572 ล้านบาท การจราจรอันดับสอง 4,153 ล้านบาท สำนักการโยธาฯได้งบฯมากสุด 5,365 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบฯผูกพันโครงการเก่า ของใหม่มีไม่ กี่งาน ชาวบ้านบนถนนราชวงศ์และดินแดงแจ็กพอต กทม. เตรียมลงพื้นที่สำรวจเวนคืน สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง ยาว 450 เมตร งบฯ 1,000 ล้าน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณประจำปี 2549 วงเงิน 35,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ โดยงบประมาณส่วนนี้เป็นงบประมาณของ กทม.ที่จัดเก็บเอง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วได้อยู่ที่ 31,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท ส่วนงบฯที่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐบาลปี 2549 อยู่ที่ 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ประมาณ 25.39% หรือเพิ่มขึ้น 2,874 ล้านบาท จากปี 2548 อยู่ที่ 11,321 ล้านบาท ทั้งนี้ ในงบประมาณปี 2549 จะนำมาใช้จ่ายสำหรับโครงการต่างๆ ตามแผนพัฒนา กทม. อันดับแรกเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม วงเงิน 4,572 ล้านบาท คิดเป็น 43.86% อันดับ 2 ด้านการจราจร การขนส่ง และสาธารณูปโภค วงเงิน 4,153 ล้านบาท คิดเป็น 39.83% อันดับ 3 ด้านทรัพยากรมนุษย์และสังคม วงเงิน 1,436 ล้านบาท คิดเป็น 13.77% อันดับ 4 ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงิน 226 ล้านบาท คิดเป็น 2.16% อันดับ 5 ด้านผังเมืองและการใช้ที่ดิน วงเงิน 27 ล้านบาท คิดเป็น 0.26% อันดับ 6 ด้านการบริหารและการปกครอง วงเงิน 12 ล้านบาท คิดเป็น 0.12% "งบฯปี 2549 หน่วยงานที่ได้งบฯมากที่สุด คือ สำนักการโยธาฯ ได้รับทั้งสิ้น 5,365 ล้านบาท ปีที่แล้วได้ 4,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 585 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบฯสานต่อโครงการเก่า ส่วนโครงการใหม่มีไม่มากนัก รองลงไปเป็นสำนักระบายน้ำ 3,498 ล้านบาท ปีที่แล้วได้ 2,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 779 ล้านบาท" ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการใหม่จะผูกพัน 3 ปี ตั้งแต่ 2549-2551 ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางต่างระดับถนนพัฒนาการ-ถนนอ่อนนุช งบฯก่อสร้าง 300 ล้านบาท โครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่าดินแดง งบฯ 299 ล้านบาท โครงการถนนหทัยราษฎร์ (สุวินทวงศ์-สายไหม) งบฯ 300 ล้านบาท โครงการสะพานข้ามแยกถนนรามคำแหง-ถนนวงแหวนตะวันออก งบฯ 450 ล้านบาท โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำถนนแจ้ง วัฒนะไปลงสู่คลองบางตลาด งบฯ 135 ล้านบาท แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจากคลองโอ่งอ่าง-ท่าน้ำราชวงศ์ งบฯ 60 ล้านบาท โครงการจ้างเดินระบบบำรุงรักษาและจัดการบริหารโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง งบฯ 1,115 ล้านบาท โครงการจ้างเหมาเอกชนขนมูลฝอยจากสถานี ขนถ่ายมูลฝอยระบบใหม่ ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและนำไปทำลายโดยวิธีฝังกลบ งบฯ 743 ล้านบาท เป็นต้น สาเหตุที่ กทม.จะก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนราชวงศ์-ถนนท่า ดินแดงก่อน เนื่องจากบริเวณดังกล่าวสภาพถนนในปัจจุบันมีแค่ 2 เลนไปกลับเท่านั้นทำให้การจราจรหนาแน่นมาก ถ้าก่อสร้างสะพานขึ้นมา จะทำให้ช่วยผ่อนคลายไปได้บ้าง เพราะการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะสามารถบรรเทาปัญหา ดังกล่าวได้โดยตรง เพิ่มพื้นที่ความจุถนนและเชื่อมต่อระบบโครงข่ายถนนให้มีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการก่อสร้างสะพานท่าน้ำราชวงศ์-ท่าดินแดง จะช่วยแบ่งการจราจรท้องถิ่นในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง จากสะพานพุทธฯและสะพานพระปกเกล้า จะช่วยให้ขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น โดยสามารถลดความคับคั่งโดยรวมได้กว่า 5% ซึ่งคุ้มค่าต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบและสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อจะได้ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินในบริเวณดังกล่าว
|