กทม.เล่นบทโหดเตรียมทุบทิ้งอาคารร้างเสี่ยงอันตรายทั่วกรุงกว่า 200 อาคาร ยันเอาแน่ หลังสะสางป้ายเจ้าปัญหาเสร็จสิ้น ตั้งคณะกรรมการระดับเขต ตรวจสอบด่วน หากพบอาคารเข้าข่ายเสี่ยง ร่อนหนังสือเรียกเจ้าของ เข้ารื้อถอนเอง หากดื้อแพ่งไม่ดำเนินการ กทม.จะใช้ มาตรา 46 ตามกฎมายควบคุมอาคารเข้ารื้อถอนทันที พร้อมจี้รัฐแก้ปัญหาอาคารร้างโครงสร้างยังดี ด้านสภาวิศวกรรับลูกกทม.ต้องเข้ารื้ออย่างเด็ดขาดไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หวั่นเกิดโศกนาฎกรรมซ้ำซาก จากปัญหาป้ายโฆษณาไม่ได้มาตรฐานและเสี่ยงอันตรายทั่วกรุงเพมหานคร โดยกทม.ได้ออกมาตรการรื้อย้ายป้ายดังกล่าวทิ้ง และล่าสุดกรุงเทพมหานครยังได้หามาตรการจัดการกับอาคารร้างที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตราย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร(กทม.)ที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้กว่า 200 อาคาร ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จากการโจรกรรมและโครงสร้างอาคารที่เสื่อมและไม่มั่นคงแข็งแรง
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแหล่งข่าวระดับสูงจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า หลังจากกทม.ได้สะสางปัญหาป้ายโฆษณาที่มีความเสี่ยงอันตราย และป้ายผิดกฎหมายควบคุมอาคารในเขตกทม.เสร็จเรียบร้อยแล้ว มาตราการต่อไป กทม.จะเข้าดำเนินการตรวจสอบอาคารร้างที่มีอย่ตจำนวนมากและยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพราะมีทั้งอาคารที่มีเจ้าของและติดภาระหนี้
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า มี 200 กว่าอาคารที่อยู่ในข่ายอันตรายจาก 508 อาคาร แต่จะมีหลายอาคารเช่นกันที่มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง อาทิ อาคารมีรอยราวค่อนข้างมาก เหล็กเป็นสนิมและ โผ่ออกมานอกอาคารที่เกิดจากรอยแตกร้าว เนื่องจากก่อสร้างไว้นานจนใช้การไม่ได้ ในเบื่องตน กทม.จะมอบหมายให้แต่ละสำนักงานเขตฯตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ
ทั้งนี้หากพบว่าอาคารในพื้นที่เข้าข่ายดังกล่าว จะประกาศให้เป็นเขตอันตรายและปิดประกาศห้ามใช้อาคารหรือห้ามเข้าเขตบริเวณอาคารเหล่านั้น ตามกฎหมายการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตฯแจ้งต่อเจ้าของอาคารเพื่อเข้ารื้อถอนอาคารที่มีปัญหาเองก่อน แต่หากไม่มารื้อถอนตามคำสั่ง กทม.จะใช้อำนาจตามมาตรา 46 ของพ.ร.บ.ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เข้ารื้อถอนเองทันที แต่ปัญหาก็คือ กทม.มีกำลังเจ้าหน้าที่น้อยและไม่มีงบประมาณที่จะใช้รื้อถอนอาคารดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้จะต้องหารือกับนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
ส่วนโครงการที่โครงสร้างยังสามารถใช้งานได้ ก็จะเข้าไปรื้อถอนพวกนั่งร้าน รถเคน และเศษซากวัสดุ ที่เห็นว่าหากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดอันตราย อย่างไรก็ดีกทมเกรงว่าจะเกิดการฟ้องร้องระหว่างเจ้าของอาคาร เจ้าหนี้ ขึ้นมาได้เช่นกันหากเข้าไปรื้อถอนจริงๆ ส่วนอาคารที่เป็นโครงสร้างของคสล.เชื่อว่ามั่นคงแข็งแรงสามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้ ส่วนกรณีที่จะให้อาคารร้างหมดไปคงต้องให้รัฐบาลเข้ามาเป็นเจ้าภาพดำเนินการทั้งระบบ เพราะลำพังหากให้กทม.ดำเนินการคงไม่สามารถทำได้
ด้านนายไกร ตั้งสง่า ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาวิศวกร เปิดเผยถึงกรณีอาคารอันตรายว่าคงต้องแยกเป็น สองประเภทคืออาคารที่ก่อสร้างค้างหรืออาคารร้าง ที่มีการตรวจสอบอาคารมาครั้งหนึ่งและยังไม่มีการตรวจสอบอีก ซึ่งในสภาพของบางอาคารที่ตรวจสอบมาก่อนหน้านี้อาจมีความเปลี่ยนแปลงไปเช่น น้ำหรืออากาศเข้าโครงสร้างเหล็กอาจทำให้เหล็กขึ้นสนิมได้ ส่วนของโครงสร้างถูกทำลาย ซึ่งบางอาคารสามารถที่จะแก้ไขได้ แต่บางอาคารก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้และหากมีอันตรายอาจจำเป็นต้องทุบทิ้ง
อย่างไรก็ดีกทม.คงต้องมีการตรวจสอบมากขึ้น และโดยเฉพาะผู้ที่ซื้ออาคาร นักลงทุนที่มีการลงทุนก่อสร้างต่อยิ่งมีความจำเป็นต้องหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบอาคาร หากก่อสร้างโดยไม่มีการตรวจสอบอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เข้าไปใช้อาคารได้ ซึ่งหากทางกทม.ไม่มีบุคลากรเพียงพอสามารถที่จะขอความร่วมมือจากสภาฯได้เช่นกัน ก่อนหน้านี้ทางสภาฯเคยเสนอแนวทางกับกทม.และสถาบันการเงินไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นในเรื่องของอาคารอันตรายต่างๆ หน้าที่ของทางกทม.จำเป็นต้องดูแลและควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ อาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่กำลังมีปัญหากับผู้อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องผู้ออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้การก่อสร้างของผู้รับเหมาที่ต้องก่อสร้างตามแบบมีปัญหา จึงเป็นเรื่องของกฎหมายที่ควบคุมการก่อสร้างคือพรบ.ขุดดิน พรบ.ควบคุมอาคารและกฎกระทรวงของทางกทม. ซึ่งที่ผ่านมากทม.ไม่มีการตรวจสอบควบคุมดูแลการก่อสร้างที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการไม่มีบุคคลากรที่มีความรู้ด้านการก่อสร้าง บุคลากรไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ในทางปฏิบัติจะต้องมีการตรวจสอบกระบวนการทำงานตั้งแต่การขุดหน้าดิน การใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ทำการก่อสร้าง และที่สำคัญคือการเคลมค่าชดเชยกับบริษัทประกันภัย มีเงื่อนไขว่าในการเคลมแต่ละครั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างจำเป็นต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันเป็นรายครั้ง ทำให้ผู้รับเหมารอการเคลมประกันเมือ่งานเสร็จ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่รอบข้างอย่างมาก วิธีการแก้ไขคือพรบ.และกฎหมายที่มีบังคับใช้ควรที่จะมีการกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติอย่างเข้มงวด ก่อนทำงานควรมีการตรวจสอบตรวจแบบก่อสร้างก่อนเปิดหน้าดินว่าอันตรายหรือไม่ และเมือ่ก่อสร้างแล้วควรมีการตรวจสอบเป็นระยะ หากเกิดความไม่ปลอดภัยก็ควรที่จะหยุดงานก่อสร้างทันที และสำหรับผู้ที่ออกแบบทางเจ้าของบ้านหรอืผู้เดือดร้อนควรที่จะทำหนังสือร้องเรียนเข้ามายังสภาเพื่อที่จะยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เพราะทำให้วิชาชีพนี้ได้รับความเสื่อมเสีย
|