ผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ฉลุย คณะกรรมการกลั่นกรองชุดรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เป็นประธานไฟเขียว ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาถ้อยคำด้านกฎหมายอีกรอบ แล้วเสนอ ครม.เพื่อทราบ ก่อนชง มท.1 ลงนามประกาศใช้ กทม.มั่นใจปลายปีนี้กรอบคุมทิศทางการพัฒนาฉบับใหม่คลอด ชี้คุมเข้มแต่เปิดช่องให้ผุดโปรเจ็กต์ตามเงื่อนไข มั่นใจเอกชนขานรับ หลังปรับแก้หลายครั้งตามข้อเสนอของแลนด์ลอร์ด นายสมศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2548 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกลั่นกรองงาน ชุดที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้พิจารณาร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 และให้ความเห็นชอบร่าง กฎกระทรวงผังเมืองรวมฉบับดังกล่าวแล้ว ขั้นจากนี้ไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบรายละเอียดข้อกฎหมาย จากนั้นจะเสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ แล้วส่งเรื่องให้พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามประกาศบังคับใช้ คาดว่าอีกไม่เกิน 2-3 เดือนการดำเนินการทุกอย่างจะเสร็จเรียบร้อย ในการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่ประชุมไม่ได้มีการปรับแก้ไขเนื้อหาสาระที่เป็นประเด็นหลักในร่างกฎกระทรวง โดยเห็นชอบตามที่สำนักผังเมือง กทม.เสนอ และเห็นว่าไม่ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา แต่ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบถ้อยคำในร่างกฎหมายอีกครั้ง เพื่อความรอบคอบ และจะได้ไม่เกิดปัญหาด้านข้อกฎหมายภายหลัง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนปกติ "มั่นใจว่าจากนี้อีกไม่นานผังเมืองรวม กทม. ฉบับใหม่จะบังคับใช้เป็นทางการ หลังจากยืดเยื้อมานาน" สำหรับกรณีที่ยังมีเจ้าของที่ดินและผู้มีส่วนได้เสียบางส่วนไม่เห็นด้วย ก็สามารถยื่นข้อเสนอให้กับ กทม.ได้ ซึ่งหาก กทม.เห็นว่ามีเหตุผลสมควรที่จะมีการปรับแก้ไขก็จะดำเนินการ คงต้องรอดูอีกระยะหนึ่งว่าหลังจากบังคับใช้แล้วเกิดผลกระทบในด้านไหนบ้าง อย่างไรก็ตามในการจัดทำร่างผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ กทม.พยายามใช้วิธียืดหยุ่นและผ่อนปรนให้มีการใช้ประโยชน์ ที่ดินได้มากที่สุด อยู่แล้ว "ส่วนผังเมืองรวม กทม.ฉบับเดิม ที่มีการต่ออายุบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 นั้น เมื่อผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อย จะมีการยกเลิก และบังคับใช้ผังเมืองรวมฉบับใหม่แทน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และควบคุมการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด ซึ่งจะช่วยป้องกันแก้ไขความแออัดของเมือง ปัญหาการจราจร ปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม" นายสมศักดิ์กล่าว แหล่งข่าวจากศาลาว่าการ กทม.เปิดเผย ว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ ที่ผ่านการ พิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอของเจ้าของที่ดินและ ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ได้มากขึ้นในหลายพื้นที่ ยกเว้นที่ดินแถบโซนตะวันออก และด้านใต้ของ กทม. ที่บางส่วนจำเป็นต้องกันไว้เป็นที่รับน้ำ ขณะเดียวกันในที่ดินที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) หลายทำเลเปิดให้พัฒนาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังกำหนดสัดส่วนให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับกิจกรรมรองในพื้นที่แต่ละสีผัง เท่ากับเปิดให้มีการพัฒนานอกเหนือจากกิจกรรม หลักได้ แต่กำหนดกรอบในการควบคุมไม่ให้การใช้ประโยชน์ในกิจกรรมรอง ส่งผลกระทบและทำให้เกิดปัญหาต่อกิจกรรมหลัก ซึ่งในจุดนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่น่าจะพอใจ เนื่องจากเป็นการเปิดช่องให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน วิธีการคือ กทม.ต้องเข้าไปสำรวจพื้นที่แต่ละบล็อกแต่ละโซนว่า ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจกรรมรองหรือกิจกรรมอื่นๆ มากน้อยเพียงใดแล้ว และสามารถให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในกิจกรรมรองหรือกิจกรรมอื่นได้เพิ่มอีกเท่าใด เช่น พื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) ประเภทที่ดิน ก.3 ให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่น ได้ไม่เกิน 5% ในแต่ละบริเวณ ประเภทที่ดิน ก.4 ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีเขียวลาย (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) ฝั่งตะวันออก ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 5% พื้นที่สีเขียวลาย ฝั่งตะวันตก ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีเหลือง (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีส้ม (ที่ดินประะภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีน้ำตาล (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) ให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีม่วง (ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่สีเม็ดมะปราง (ที่ดินประเภทคลังสินค้า) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ไม่เกิน 10% พื้นที่เขตสีน้ำตาลอ่อน (ที่ดินประเภทอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย) ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการอื่นได้ ไม่เกิน 5% พื้นที่เขตสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ) ให้ใช้ประโยชน์เพื่อกิจการอื่นโดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง ตามข้อเสนอของ กทม. และกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นต้น ขณะที่การใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมหลักก็เปิดกว้างมากขั้น อาทิ ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียวและเขียวลาย) ให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยให้สร้างพาณิชยกรรมที่เกิน 100 ตร.ว. แต่ไม่เกิน 200 ตร.ว. และต้องตั้งอยู่ริมถนนไม่น้อยกว่า 10 เมตร และพื้นที่เกิน 200 ตร.ว. แต่ไม่เกิน 300 ตร.ว. ตั้งอยู่ริมถนนกว้างไม่น้อยกว่า 16 เมตร สร้างตลาดได้พื้นที่ไม่เกิน 400 ตร.ม. ตั้งอยู่ริมถนนไม่น้อยกว่า 16 เมตร อุตสาหกรรมเกษตรไม่เกิน 200 ตร.ม. สถานพยาบาล สถานศึกษา ศูนย์ประชุมหรืออาคารแสดงสินค้าในรัศมี 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้า สวนสนุก สวนสัตว์ พื้นที่สีเหลือง ย. 2 และ ย. 4 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) ให้พัฒนาได้เพิ่มขึ้น ในรูปของพาณิชยกรรม ให้สร้างทาวน์เฮาส์ในพื้นที่สีเหลือง ย. 3 - ย. 4 ตั้งแต่ 18 ตร.ว.ขึ้นไป จากเดิมสร้างได้บนที่ดินตั้งแต่ 22 ตร.ว.ขึ้นไป อาคารขนาดใหญ่ อาคารชุดด้วย ต้องอยู่ริมถนนขนาด 20 เมตร ส่วน ย.1- ย.2 สร้างได้เฉพาะบ้านเดี่ยวขนาด 100 ตร.ว. และ 50 ตร.ว. เป็นต้น
|