เป็นการเปิดตัวรอบที่สองของ "ประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร" นักบริหารระดับไฮโซฯ ผู้นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน จำกัด บนสำนักงานขายตึกเพนินซูล่าพลาซ่า ราชดำริ เขาไม่ได้มาคนเดียว แต่พา "ณัฐพงษ์ อิน ทุภูติ" สถาปนิกแห่งบริษัทล๊อคบิลด์ฯ มาร่วมให้ข้อมูลด้วย เพื่ออัพเดตโครงการที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุดถึง 4 พันล้านบาท ในทำเลชายหาดหัวหินว่า "กำลังไปได้ดี" แม้จะมีข่าวว่ารัฐบาลเลิกล้มโครงการแหลมผักเบี้ยไปแล้ว แต่ "ประไพสิทธิ์" ยังมั่นใจว่า รัฐคงจะตัดถนนสายใหม่มารองรับแทน เพราะแนวโน้มความเจริญเติบโตในแถบชายทะเลตั้งแต่ชะอำไปจนถึงหัวหินมีโอกาสจะโตมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้น จัดว่าเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายล้วนมีกำลังซื้อสูง ทำให้ทุนไทยและทุนต่างชาติเฮโลมาปักธงบนทำเลแถบนี้จนลายตาไปหมด "โบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน" จึงต้องเฟ้นหา "จุดขาย" สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง "จุดขายโครงการคือเด่นเรื่องดีไซน์และทำเล เพราะอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างชะอำ-หัวหิน บรรยากาศยังสดและไม่แออัดจนเกินไป" ประไพสิทธิ์ บอกและให้รายละเอียดอีกว่า "โบ๊ทเฮ้าส์" จะใช้แนวคิดพัฒนาให้เป็นรูปแบบของคอมมูนิตี้แห่งเดียวที่โดดเด่นที่สุดในหัวหิน มีบ้านเดี่ยวสไตล์วิลล่าอยู่ติดกับชายหาด รวมพื้นที่ที่จะขายทั้ง 2 ฝั่ง 32 แปลง แต่ที่ดินเปล่า 6 แปลง บริษัทไม่ได้รีบร้อนที่จะขาย โดยมีเนื้อที่พัฒนาทั้งหมด 72 ไร่เศษ ตามแผนงานบริษัทคาดว่าสิ้นปีนี้บ้านเดี่ยวตัวอย่าง 2 หลัง และคอนโดมิเนียมขนาด 60 และ 90 ตารางเมตร จะก่อสร้างตกแต่งเสร็จพร้อมเปิดให้ลูกค้าเข้าไปชมของจริง และบริษัทจะก่อสร้างวิลล่าให้ครบ 114 หลัง อาคารชุดพักอาศัยอีก 4 ตึก ตึกละ 14 ชั้น รวม 378 ยูนิต ราคาเริ่มต้นประมาณ 18 ล้านบาท ที่สร้างความโอ่อ่าและแปลกตาจากโครงการอื่นคือ "สระว่ายน้ำ" แบบฟรีฟอร์มที่รายล้อมภายในโครงการโบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน จะไหลผ่านบ้านทุกหลัง เหมือนลูกค้าซื้อบ้านแล้วได้แถม "สระว่ายน้ำ" ขนาดของสระว่ายน้ำมีขนาดกว้างมาก ไม่ต่ำกว่า 15,000 ตารางเมตร หรือใหญ่เท่ากับสระว่ายน้ำแข่งโอลิมปิกถึง 12 สระ เฉพาะเม็ดเงินที่ลงทุนสร้างสระน้ำวางไว้เลยไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดมีลูกค้าเศรษฐีจองแล้ว 10 กว่ายูนิต ผู้บริหารคาดการณ์ว่าเมื่อหมดไตรมาสแรกในปีหน้า ยอดจองไม่น่าจะต่ำกว่า 20% หรือมากกว่านิดหน่อย ถามว่า คนที่ปิ๊งไอเดียคนแรกที่คิดทำเมกะโปรเจ็กต์จัดสรรที่มีมูลค่าแพงขนาดนี้เป็นใคร "ประไพสิทธิ์" เฉลยว่า "ชื่อคุณสมชาติ ชินธรรมมิตร์ บอร์ดของบริษัทโบ๊ทเฮ้าส์ฯและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำตาลขอนแก่นและบริษัท ราชาชูรสฯ ธุรกิจของครอบครัว" "คุณสมชาติมองว่า ทำเลแถบนั้นยังไม่มีคอมมูนิตี้ที่เด่นๆ ก็น่าจะเป็นจุดที่สร้างโอกาสได้" แผนการวางกลยุทธ์สร้างฝันให้เป็นจริงจึงเกิดขึ้น ด้วยวิธีการเอาต์ซอร์ซ (outsource) หรือจ้างมืออาชีพทุกแขนงมาร่วมกันแท็กทีม อาทิ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล เจ้าของเทวา สตูดิโอ เป็นผู้ออกแบบโครงการ รายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมที่ลึกลงไปมอบหมายให้บริษัทล๊อกบิลด์ฯดูแล การตกแต่งภายในได้ให้ "พีอินทีเรียดีไซน์" ของ "รุจิราภรณ์ หวั่งหลี" ช่วยสร้างสรรค์ความงามให้หรูเริ่ด ร่วมกับค่ายพริสม่ามือฉมัง ส่วนการบริหารงานขายทั้งหมดได้มอบหมายให้บริษัทไนท์แฟรงค์ฯจัดการและประมวลข้อมูลด้านการตลาดทั้งหมด ไนท์แฟรงค์ฯวางแผนจะนำโครงการดังกล่าวออกโรดโชว์ขายให้กับลูกค้าที่ฮ่องกง สิงคโปร์ และจะไปไกลถึงยุโรปด้วย "เราเน้นขายลูกค้ารายย่อยทั่วไป ไม่ได้มุ่งขายให้กับนักลงทุนหรือกลุ่มฟันด์ (กองทุน) เป้าหมายวางว่าจะขายให้ลูกค้าเหล่านี้ 30% ที่เหลือจะเป็นลูกค้าคนไทยที่ชื่นชอบชายทะเลหัวหิน" "เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทเซ็นสัญ ญาซื้อที่ดินแล้วจากการประมูล NPA (ทรัพย์รอการขาย) จากแบงก์ไทยธนาคาร ตกไร่ละ 3 ล้านบาท ซึ่งถือว่าถูกมาก แต่ราคาซื้อขายปัจจุบันไม่น่าจะต่ำกว่า 8 ล้าน ถ้าพัฒนาแล้ว" โบ๊ทเฮ้าส์ หัวหิน จะใช้เวลาสร้าง 2 ปี แล้วเสร็จในปี 2551 โดยผู้ถือหุ้นใช้ทุนส่วนตัวก้อนใหญ่ กู้บ้างแต่ไม่เยอะ คิดเป็นเงินกู้ 800 ล้านบาท ตอนนี้เบิกมาใช้เพียง 45 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่า โครงการจัดสรรขนาดใหญ่มักจะพึ่งพิง "ทุนส่วนตัว" เป็นหลัก ต่างกับยุคก่อนที่มุ่งกู้อย่างเดียว พร้อมกับดึง "มืออาชีพ" ที่เก่งๆ เข้ามาสานฝัน "ประไพสิทธิ์" สรุปรวบยอดว่า โครงการนี้ต้องไปได้ เพราะตลาดหัวหินเป็น "พื้นที่พิเศษ" ที่กำลังซื้อต่างหลั่งไหลมาไม่หยุด ทำให้กลุ่มทุนอย่าง "โฮมโปร" "อินเด็กซ์" แม้แต่ค่ายโซนี่ยังตัดสินใจสร้าง "โซนี่ เซ็นเตอร์" ครบวงจร เพื่อรองรับลูกค้ารุ่นเก่าๆ และยังเจเนอเรชั่นที่ถือว่าเป็น "ขุมทรัพย์" อันไม่รู้จบของคนขายของในย่านนั้น
|