ปรับแผนลงทุนรถไฟฟ้าฟาดหาง จัดสรรเมืองนนท์ 600 โครงการน้ำตาตก รัฐหมดเครดิต แหยงโปรเจ็กต์หาเสียง เลิกหวังระบบรางเปิดทำเลทอง "ทักษิณ" เร่งเอกชนลงทุนโครงการยักษ์ ล็อกให้ประกวดราคาภายในสิ้นปี"48 เล็งรื้อเมกะโปรเจ็กต์ที่เหลือ ทั้ง "ระบบน้ำ-การศึกษา-สาธารณสุข-บ้านเอื้ออาทร" กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างทันที เมื่อจู่ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ประกาศปรับแผนการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ในส่วนของระบบขนส่งมวลชนระบบรางมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เป็นรถเมล์พิเศษ (Bus Rapid Transit) หรือ BRT แทน และยกเลิกรถไฟฟ้าสายสีส้มบางกะปิ-บางบำหรุ โดยระบุว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน และเพื่อประหยัดงบฯลงทุนระบบรางกว่า 2 แสนล้านบาท นายไพโรจน์ สุขจั่น ประธานกรรมการ บริษัท บัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ความเห็น "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯอย่างมาก เห็นได้จากขณะนี้มีลูกค้าบางรายที่ได้จ่ายเงินจองซื้อบ้านในโครงการของบริษัทที่อยู่ใกล้กับแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ เจรจาขอเงินคืนแล้วทันทีที่ทราบข่าว 3-4 ราย โดยอ้างไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ หากรัฐบาลยกเลิกโครงการรถไฟฟ้า เนื่องจากต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นอีกทั้งยังอยู่ไกลจากที่ทำงาน นอกจากยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจะลงทุนซื้อที่ดินพัฒนาโครงการ เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ดินในเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งที่ติดถ.รัตนาธิเบศร์, วงแหวนกาญจนาภิเษก และที่อยู่ในซอยลึกเข้าไปแต่สามารถเดินทางมาขึ้นรถไฟฟ้าได้ มีการปรับตัวสูงขึ้นมาก เช่น ทำเลรัตนาธิเบศร์เดิมซื้อขายกัน ตร.ว.ละ 3-4 หมื่นบาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 หมื่นบาท/ตร.ว. บางจุดถึง 7-8 หมื่นบาท/ตร.ว. ที่ดินแถบถนนบางกรวย-ไทรน้อย เดิม 8-9 แสนบาท/ไร่ ก็ปรับขึ้นเป็น 1-2 ล้านบาท/ไร่ หรือมากกว่านั้น ส่วนราคาบ้านก็ปรับขึ้น 10-15% พูดได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าทำให้ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ซื้อบ้านต้องซื้อที่ดินซื้อบ้านแพงขึ้น หวั่นลูกค้าร้อง สคบ. นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประกอบการ เมื่อรัฐบาลยกเลิกโครงการจะมีปัญหาด้านยอดขายแน่ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ลึกจากถนนใหญ่จะขายยากขึ้นอีก ใครซื้อที่แปลงใหญ่ก็ยิ่งเจ็บตัวมาก เท่าที่ทราบดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ก็เข้าไปเปิดตัวโครงการใหม่กันเยอะ ไม่รวมโครงการขนาดเล็ก ขนาดกลาง ที่ผุดใหม่เต็มไปหมด คนมั่นใจว่ารถไฟฟ้าเกิดแน่ เพราะหน่วยงานรัฐปักป้ายบอกจุดสถานีชัดเจน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ล่วงหน้าเป็นปีๆ แล้วจู่ๆ ก็มายกเลิก ทั้งที่ก่อนหน้านี้ใช้โครงการนี้หาเสียงมาตลอด หลายๆ โครงการกำลังหนักใจ เกรงว่าจะมีลูกค้าฟ้องร้องหรือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะโฆษณา ประชา สัมพันธ์ โครงการว่าอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า" นายไพโรจน์กล่าว นายรุ่งรัตน์ ลิ่มทองแท่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซื่อตรงกรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า คงต้องได้ปรับแผนลงทุนใหม่เพื่อรองรับกับสถานการณ์ โดยจะลดการลงทุน และชะลอซื้อสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ออกไปก่อนเพื่อรอความชัดเจนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ นายวสันต์ อุบลชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอุบลชาติ กรุ๊ป กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้ปั่นป่วนไปหมด แม้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนแต่ก็ทำให้บรรยากาศซื้อ-ขายบ้านชะงักงันทันที ลูกค้าบางรายมาขอเงินจองและเงินทำสัญญาคืนแล้ว บางรายก็ขอลดราคา โดยอ้างว่าไม่มีรถไฟฟ้าผ่านเหมือนที่โฆษณาไว้ ชี้กระทบความเชื่อมั่น นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า กลุ่มลูกค้าจากในเมืองที่ย้ายมาซื้อบ้านในแถบนี้ก็คงมีผลบ้าง เพราะกลุ่มนี้ซื้อบ้านด้วยความคาดหวังว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่าน ส่วนกลุ่มที่เคยพักอาศัยอยู่แถบนั้น และต้องการขยับขยายบ้าน ซึ่งเป็น local demand คิดว่าไม่มีผล แต่คิดว่ารัฐบาลควรวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนโครงการให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะมาปรับแผนลงทุนตอนนี้ จะส่งผลถึงความไม่เชื่อมั่นในตัวรัฐบาลด้วย "ผมคิดว่าถ้ารัฐบาลยังไม่แน่ใจก็ไม่ควรจะรีบร้อนประกาศอะไรออกมา ส่วน 3 สมาคมอสังหาฯคงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้ว" นายกนก เดชาวาศน์ อุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า โดยรวมคิดว่าไม่น่าจะกระทบการตัดสินใจซื้อบ้านมากนัก เพราะโซนบางใหญ่ถือว่าอยู่ในเขตชานเมือง การเดินทางโดยใช้รถยังต้องมาก่อน รถไฟฟ้ามีผลบวกต่อการตัดสินใจ แต่ไม่ใช่ตัวแปรหลัก ไม่เหมือนโซนใจกลางเมือง เลิกหวังระบบรางเปิดทำเลทอง นายชายนิด โง้วศิริมณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ตั้งข้อสังเกตว่า เท่าที่ทราบข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าที่จะก่อสร้างส่วนใหญ่จะอิงไปกับเส้นทางรถไฟ ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ เพราะฉะนั้นเอกชนคงจะไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวังว่าจะมีทำเลทองแห่งใหม่ๆ สำหรับโซนตะวันตกย่านจังหวัดนนทบุรี ที่ผ่านมาโครงการจัดสรรขยายตัวมาก ชุมชนก็ขยายตัว โดยอิงไปกับโครงข่ายวงแหวน ดังนั้นต่อไปการตัดสินใจซื้อบ้านก็คงต้องตัดสินใจด้วยระบบถนน ทางด่วนเป็นหลัก ส่วนผลกระทบเกี่ยวกับเรื่องนี้ลูกค้าที่คาดหวังรถไฟฟ้าคงหายไปส่วนหนึ่ง แต่คงไม่กระทบโครงการที่อยู่ติดแนวถนนหลัก จัดสรร 600 โครงการแห้วรถไฟฟ้า ผู้สื่อข่าวสำรวจข้อมูลโครงการจัดสรรในจังหวัด นนทบุรี พบว่าปัจจุบันมีโครงการขาดเล็ก-ใหญ่รวมทั้งหมดกว่า 600 โครงการ นับแสนยูนิต ในจำนวนนี้บางส่วนอยู่ในแนวรถไฟฟ้า และในซอยที่แยกจากถนนสายหลักที่รถไฟฟ้าจะผ่าน มีทั้งโครงการของผู้ประกอบการรายใหญ่-รายเล็กที่ปัจจุบันก็ยังพัฒนาต่อเนื่อง อาทิ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค, แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, ศุภาลัย, ลลิล พร็อพเพอร์ตี้, พฤกษา เรียล เอสเตท, โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์, โฮมเพลส กรุ๊ป, เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ฯ, บัวทอง พร็อพเพอร์ตี้, อาร์เอ็ม พร็อพเพอร์ตี้ ฯลฯ ขณะเดียวกันมีผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตจัดสรรใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย 5-6 โครงการ/เดือนเป็นอย่างน้อย การซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินแปลงใหญ่ก็มีเพิ่มขึ้น โดยเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตจัดสรรใหม่ จำนวนมาก เด้ง "คำรบลักขิ์-เทิดศักดิ์" นายดนุพร ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. (30 ส.ค.) ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 10 กระทรวงคมนาคม จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1.นาย คำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง 2.นาย เทิดศักดิ์ เศรษฐมานพ อธิบดีกรมทางหลวง ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง พิจารณาใหม่รายโครงการ แหล่งข่าวในคณะกรรมการกำกับนโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งมีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ในส่วนของระบบขนส่งมวลชนที่เกิดขึ้นว่า เป็นการปรับเปลี่ยนไปตามข้อเท็จจริงที่ได้มีการศึกษาอย่างรอบคอบแล้ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนกรอบแนวคิดและวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทยังเหมือนเดิม แหล่งข่าวกล่าวถึงเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ ทั้งการศึกษา, สาธารณสุข, บ้านเอื้ออาทร, ระบบน้ำ และระบบขนส่ง จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลอย่างละเอียด ว่า แต่ละโครงการมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่าในการลงทุนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ อย่างไร เพื่อรัฐบาลจะได้จัดลำดับความสำคัญให้ชัดเจนและวางแผนการใช้เงินได้อย่างถูกต้อง "ขอยืนยันว่าวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทยังคงเดิม แต่ปรับใส้ในโครงการที่ดูตามข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ เพราะวงเงินนี้เป็นโครงการระยะยาวจนถึงปี 2552" แหล่งข่าวกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งมีการออกแบบสำรวจและใกล้จะเปิดประมูล แต่ต้องปรับเปลี่ยนไปว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับฯไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม จัดทำไว้ได้ แต่เมื่อเห็นว่าจะต้องมีการศึกษารายละเอียดให้รอบคอบอีกครั้ง จึงมีการตั้งคณะทำงานชุดนายพรชัย นุชสุวรรณ ประธานคณะกรรมการระดมทุนระบบขนส่งรถราง และ ดร.พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะคณะกรรมการศึกษาการลงทุน ขึ้นมาศึกษาโครงการอีกครั้ง "ผลการศึกษาที่ออกมาได้นำเสนอให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม รับทราบ และเห็นร่วมกันว่า ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่จะขนคนจากชานเมืองเข้ามาด้วยระบบ BRT ได้ จึงได้ปรับเปลี่ยนโครงการใหม่ที่เห็นว่าเหมาะสมกว่า" หมอมิ้งคุมทีมเอง แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า การตัดสินใจที่ผ่านมาเป็นเพราะรัฐมนตรีคนก่อนต้องการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งอาจไม่ถูกต้องนัก จึงมีการปรับเปลี่ยนใหม่ตามข้อเท็จจริงของผลการศึกษาที่คณะทำงานแต่ละชุดได้ข้อสรุปออกมา "ก่อนหน้านี้แต่ละโครงการยังไม่มีรายละเอียดเลย จะตัดสินใจทำหรือไม่ทำได้อย่างไร เพราะโครงการต่างๆ จะต้องดูให้รอบคอบ และแน่ใจก่อนถึงจะลงมือทำ ประกอบกับนายกรัฐมนตรีต้องการที่จะให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนระบบน้ำก่อน เท่าที่ทราบโครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหมดในตอนนี้ หมอมิ้ง-น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาสั่งการเองโดยตรง และรับทราบความเป็นไปอย่างละเอียด" แหล่งข่าวกล่าว "ทักษิณ" เร่งโครงการยักษ์ น.ส.ศันสนีย์ นาคพงษ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเร่งรัดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเร่งรัดการเปิดประกวดราคาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทุกๆ โครงการ ภายในสิ้นปี 2548 เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการได้เริ่มต้นแล้ว และจะทำให้มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นายกฯไม่ได้ระบุว่าเป็นโครงการใด แต่ได้กล่าวรวมถึงโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการ นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (mega project) ในช่วง 4 ปีของรัฐบาล (2548-2551) ยังคงดำเนินการต่อ แต่จะเร่งรัดให้เกิดความชัดเจน สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และให้จัดซื้อจัดจ้างได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยทิศทางใหญ่ของการลงทุนวงเงิน 1.7 ล้านล้านบาทเท่าเดิม แต่จะปรับปรุงในรายละเอียด จัดลำดับความสำคัญของการลงทุน ให้การลงทุนมีผลตอบแทนและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้แนวทางการลงทุนจะประกอบด้วย 1.โครง การด้านการขนส่งมวลชน (mass transit) จะมีร่างกฎหมายว่าด้วยกติกาการลงทุน (regulation) ซึ่งอยู่ในระหว่างการร่างของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้คาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุน และผลตอบแทนทางการเงินได้ โดย รมว.คมนาคมจะได้หารือเรื่องเค้าโครงการลงทุนที่ชัดเจน คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ จะเห็นเป็นรูปธรรมของการลงทุนในโครงการทั้งหมด เชื่อว่าจะมีการลงทุนอย่างประหยัด ในวงเงินเดิม 2 แสนล้านบาท 2.โครงการลงทุนด้านสาธารณสุข จะมีการพัฒนาโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้ขยายการบริการครอบคลุมและเพิ่มคุณภาพมากขึ้น โครงการลงทุนด้านนี้จะไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท 3.โครงการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เช่น การลงทุนเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อเกษตรกรรม อุตสาหกรรม วงเงินลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท 4.โครงการลงทุนด้านการศึกษา จะให้ความสำคัญกับการจัดการเรื่องทุนการศึกษาที่สอดคล้องกับรายได้ของนักศึกษาในอนาคต (ICL) และการลงทุนในด้านที่ 5.การลงทุนสำหรับโครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 3 -ระยะที่ 5 เจาะเส้นทางรถเมล์พิเศษบีอาร์ที รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า รูปแบบของโครงสร้างบีอาร์ทีจะมีทางบนดิน กรณี ที่ปริมาณรถไม่หนาแน่น และยกระดับกรณีที่ การจราจรหนาแน่นไม่มีเขตทางให้ ในส่วนของบางใหญ่-บางเขน จะผ่านถนนรัตนาธิเบศร์-งามวงศ์วาน มีทั้งยกระดับและบนดิน ส่วนค่าก่อสร้างของรถบีอาร์ทีจะถูกกว่ารถไฟฟ้ามาก มีเขตทาง ระดับดินค่าก่อสร้าง 200 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ยกระดับ 400 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ไม่มีเขตทาง ค่าก่อสร้าง 600 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถไฟฟ้าเป็นใต้ดินค่าก่อสร้าง 3,115 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ยกระดับเฉลี่ย 995-1,400 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ระดับดิน 715 ล้านบาทต่อกิโลเมตร การลงทุนรถบีอาร์ทีถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะในอีก 5-10 ปีข้างหน้าถ้าความจุผู้โดยสารมาก สามารถปรับมาเป็นรถไฟฟ้าได้ แต่บีอาร์ทีนี้ประสิทธิภาพจะไม่ด้อยไปกว่ารถไฟฟ้า มีความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟฟ้า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และค่าโดยสารถูก อยู่ที่ 8-18 บาท รายงานข่าวระบุอีกว่า แนวคิดนี้ได้หารือกันมาไม่น้อยกว่า 6 เดือน และรถบีอาร์ทีไม่มีปัญหา เนื่องจาก สนข.ได้มีการศึกษามาอยู่แล้ว ขณะที่ข้อดีของบีอาร์ทีคือก่อสร้างง่ายและต้นทุนก่อสร้างถูก ทั้งหมดนี้จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณเป็นประธาน และคาดว่าในระหว่างวันที่ 2-4 กันยายนนี้นายกฯจะยกเรื่องนี้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
|