เป็นภาพที่เริ่มชัดเจนขึ้นในวงการสุขภัณฑ์เมื่อผู้ผลิตหลายค่ายต่างหันมารุกหนักเรื่อง "เซอร์วิส" กันมากขึ้น จากเดิมที่เคยเป็นแค่ after sale service รองรับลูกค้า แต่สำหรับบริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์และก๊อกน้ำแบรนด์ "คอตโต้-โตโต้" กำลังก้าวขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการพัฒนาตลาดรุกบริการเปลี่ยนห้องน้ำอย่างเต็มตัว ซึ่งเป็นตลาด "รีโนเวต" ที่มีมูลค่ามหาศาล คอตโต้เริ่มต้นรุกหนักอย่างจริงจังเมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการขยายศูนย์ "คอตโต้ เซอร์วิส เซ็นเตอร์" ในจังหวัดเชียงใหม่ (ถนนซูเปอร์ ไฮเวย์) และจังหวัดภูเก็ต (ถนนเฉลิมพระเกียรติ) และศูนย์ที่อยู่ภายในอาคารสำนักงานย่านดอนเมือง รวมเป็น 3 แห่ง ส่วนปีนี้มีแผนจะเปิดอีก 2 แห่ง ในจังหวัดพัทยาและขอนแก่น ภายในช่วงไตรมาส 3 นี้ รูปแบบของศูนย์ภายในจะมีการตกแต่งดิสเพลย์ไว้สวยงามเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกทดลองระบบสุขภัณฑ์ และศูนย์อะไหล่ครบวงจร เฉลี่ยแต่ละสาขาจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ 3 คน และทีมช่างอีก 2 คน ยกเว้นศูนย์ในกรุงเทพฯที่มีทีมช่าง 5 คน โดยจะเน้นไปที่ตลาด "บ้านเก่า" เป็นหลัก ทั้งบริการเปลี่ยนอะไหล่-ซ่อมแซม "วรยศ ศุภสาธิต" ผู้จัดการส่วนบริการเทคนิค บริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด เปิดเผยว่า เฉลี่ยปริมาณงานที่เข้ามาหากเป็นศูนย์ในกรุงเทพฯจะมีลูกค้าวันละ 15-20 ราย ส่วนในต่างจังหวัดเฉลี่ยวันละ 6-7 ราย ถึงวันนี้มีลูกค้ารวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย ที่สำคัญคอตโต้ได้วางกลยุทธ์เซอร์วิสในแบบเชิงรุกมากขึ้น! ที่ผ่านมาได้เริ่มรุกงานโปรเจ็กต์ในชื่อโครงการว่า "Cotto Visiting & Replacement" โดยติดต่อผ่านเจ้าของโครงการให้ลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนห้องน้ำ อาทิ โครงการเศรษฐสิริ สนามบินน้ำ ของ บมจ.แสนสิริ โครงการมณีรินทร์ พาร์ค ของ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ฯลฯ "รายได้ตรงนี้อาจไม่มากแต่สิ่งที่เราได้กลับมาคือฟีดแบ็ก รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไรเกี่ยวกับสุขภัณฑ์และนำมาต่อยอดในการพัฒนา ส่วนค่าบริการแม้จะแพงกว่าผู้รับเหมา 10-20% แต่สิ่งที่ลูกค้าได้คือมาตรฐานการบริการ" "คอตโต้" รุกตลาดเปลี่ยนห้องน้ำ การขยายเซอร์วิสเพื่อให้บริการเปลี่ยนห้องน้ำ ซึ่งรวมถึงกระเบื้องปูพื้น-บุผนังภายในด้วย ซึ่งได้อาศัยเวทีงานสถาปนิก"48 ที่ผ่านมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยมีการโชว์แบบห้องน้ำ "สำเร็จรูป" ไว้ด้านในบูทของบริษัท เบื้องต้นได้ออกแบบห้องน้ำสำเร็จรูปไว้ 3 แบบ ได้แก่ แบบ home spa ขนาด 2.5x2.2 เมตร ราคา (รวมค่าบริการ-ติดตั้ง) 9.7 หมื่นบาท แบบ modern ราคา 1.8 แสนบาท และแบบ dreaming type ราคา 1.7 แสนบาท ซึ่งลูกค้าสามารถปรับแบบสุขภัณฑ์หรือกระเบื้องได้ตามต้องการ หรือจะเลือกใช้แบบเฉพาะของตัวเองก็ได้ การบริการจะมีเครือข่ายซับคอนแทร็กต์ 3-4 บริษัทต่อหนึ่งศูนย์ที่ผ่านการเทรนด์ขึ้นมาเพื่อรองรับงานรื้อถอน-ติดตั้งโดยเฉพาะ เบ็ดเสร็จใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน เป้าหมายลูกค้าของคอตโต้ในปีนี้คือ 120 ราย ล่าสุดมีออร์เดอร์รออยู่ในมือแล้วประมาณ 10 ราย ไม่นับรวมลูกค้าจากงานสถาปนิกที่ผ่านมาที่ต้องการให้บริษัทไปดูหน้างานอีก 60 ราย จากที่มาลงทะเบียนทั้งหมด 300 ราย "ปีที่ผ่านมาเรามีรายได้จากซ่อมแซมประมาณ 3-4 ล้านบาท แต่ปีนี้รายได้น่าจะเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่า แยกเป็นงานเปลี่ยนห้องน้ำ 12 ล้านบาท และซ่อมแซมอีก 4-5 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ 20 ล้านบาท" ล่าสุด ยังได้เตรียมทำ "คอตโต้ เซอร์วิส คอร์เนอร์" ภายในร้านดีลเลอร์ ใช้พื้นที่ 4-6 ตารางเมตร ตามแผนในปีนี้จะเริ่มก่อน 12 ราย จากดีลเลอร์ทั้งหมด 500 ราย สาขาแรกคือร้านไทยวิวัฒน์สุขภัณฑ์ สุขุมวิท 61 และจะเปิดให้ครบ 7 รายภายในช่วงครึ่งปีแรก บาธรูม รุกเซอร์วิส เซ็นเตอร์ ด้านบริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาได้เริ่มทยอยเปิดศูนย์เซอร์วิส เซ็นเตอร์ 11 สาขาครอบคลุมทั่วประเทศ เริ่มจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พิษณุโลก ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ภูเก็ต สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี โดยให้บริการทั้งงานติดตั้งและงานซ่อมแซม ซึ่งพิเศษกว่าค่ายอื่นๆ ตรงที่ไม่มีการคิดค่าบริการหน้างานและค่าติดตั้ง "ลดาวัลย์ เบญจธนะฉัตร์" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท บาธรูม ดีไซน์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า เซอร์วิส เซ็นเตอร์ ณ วันนี้ยังเป็นการบริการแบบเชิงรับมากกว่า แต่ต่อไปจะขยายบริการสู่เชิงรุกโดยเตรียมติดต่อไปยังฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่ในมือเกือบ 1 แสนรายตลอด 9 ปีที่ผ่านมา "เรามองว่าเป็นการลงทุนเพื่อซื้ออนาคต เพราะตอนนี้บาธรูม ดีไซน์มีฐานลูกค้ามากขึ้น การมีเซอร์วิสก็เหมือนเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคด้วย" "อเมริกันสแตนดาร์ด" ขยายสาขา ส่วนบริษัท เครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด ที่มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 2 ในตลาด ก็วางแผนจะบุกหนักเรื่องเซอร์วิสเช่นกัน จากที่ศูนย์บริการอะไหล่และเซอร์วิสในย่านเอกมัย (สุขุมวิท 63) ปีนี้เปิดเพิ่มอีก 2 สาขา ในจังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต เรียกได้ว่าครั้งนี้อเมริกันสแตนดาร์ดจงใจชนกับคอตโต้โดยตรง ศูนย์เซอร์วิสของอเมริกันฯถือว่าได้รับการตอบที่ดี เฉลี่ยมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการถึงเดือนละ 600-700 ราย และถึงแม้ว่าวันนี้รูปแบบจะเป็นแค่การให้บริการหลังการขาย แต่อนาคตย่อมปฏิเสธต่อไปค่ายนี้ก็ต้องหันมาทำเซอร์วิสเชิงรุกมากขึ้น เรื่องการเจาะตลาดรีโนเวตหรือติดต่อไปยังฐานลูกค้าเก่าเราก็สนใจ เพียงแต่คงไม่ใช่ตอนนี้" กฤช เมธาธราธิป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เครื่องสุขภัณฑ์อเมริกันสแตนดาร์ด สรุปสั้นๆ เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองเรื่องสินค้าแต่บริการก็เป็นสิ่งสำคัญ วงการสุขภัณฑ์ในปีนี้จึงน่าจะได้เห็นสีสันด้านเซอร์วิสกันมากขึ้น ! |