แม้สถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ภายใต้สถานการณ์ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง อันเป็นผลมาจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็ปรับขึ้นตามภาวะตลาด ทำให้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการพิจารณาปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อย โดยเริ่มกำหนดเพดานสูงสุดของวงเงินกู้เพื่อป้องกันความเสี่ยง และถือเป็นการคัดเลือกลูกค้าโดยพิจารณาความพร้อมในการซื้อบ้านไปในตัว นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงนี้สถาบันการเงินเกือบทุกแห่งเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณ สมบัติของลูกค้ามากขึ้น และส่วนใหญ่ไม่ปล่อยวงเงินกู้ให้เกินกว่า 90% แล้ว เนื่องจากเกรงจะมีความเสี่ยง และตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาคุมเข้มสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ ไม่ให้ปล่อยกู้แก่ลูกค้ารายย่อยวงเงินเกินกว่า 90-95% ของราคาซื้อขายบ้าน โดยในส่วนของ ธอส.ขณะนี้ก็ได้เลิกโครงการสินเชื่อบ้านเพื่อคนไทย ที่สามารถปล่อยกู้ให้กับลูกค้าเพื่อซื้อบ้านได้สูงถึง 120% ของราคาประเมินหลักประกัน "ที่ผ่านมาธนาคารได้ตั้งวงเงินสำหรับโครงการสินเชื่อนี้ไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท และได้ปล่อยกู้เต็มจำนวนไปแล้ว เมื่อแบงก์ชาติมีนโยบายไม่ต้องการจะให้แบงก์ทุกแห่งปล่อยกู้ในวงเงินที่สูงเกินไป จึงตัดสินใจที่จะไม่ขยายวงเงินกู้นี้ภายใต้โครงการนี้ออกไปอีก" นายขรรค์กล่าว นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อบ้านในวงเงิน 100% ของธนาคารพาณิชย์ ในปัจจุบันยังมีอยู่บางกรณีเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นกรณีพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่าลูกค้ามีความสามารถที่จะผ่อนชำระได้ ทั้งนี้ ธปท.ไม่ได้กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ เพียงแต่ควบคุมการให้สินเชื่อสำหรับการซื้อบ้านที่มีราคาขายตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนกรณีบ้านราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท การอนุมัติวงเงินกู้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละแบงก์เป็นหลัก "ในทางปฏิบัติการปล่อยกู้ในวงเงินที่สูงถึง 100% หรือมากกว่านั้นเป็นไปได้ยาก แต่ก็มีบางเคสที่แบงก์ร่วมมือกับโครงการปล่อยกู้ให้กับลูกค้า 100% สำหรับบ้านพร้อมอยู่ อย่างเช่นเป็นบ้านสั่งสร้าง ธนาคารก็ให้ลูกค้าจ่ายเงินดาวน์ตามปกติ พอยื่นกู้ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้ 100% เท่ากับว่าลูกค้าจะได้เงินดาวน์คืน" นางชาลอตกล่าวว่า สำหรับโครงการจัดสรรที่จัดโปรโมชั่นจ่ายดาวน์ 50,000 บาท สามารถเข้าอยู่ได้ทันที เป็นโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายของเจ้าของโครงการที่นำมาเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านที่สร้างเสร็จก่อนขาย หรือเป็นบ้านพร้อมโอน ผู้ประกอบการไม่มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง จะแตกต่างจากบ้านสั่งสร้างที่เจ้าของโครงการต้องนำเงินจองของลูกค้าไปเป็นเงินหมุนเวียน นายรุ่งรัตน์ ลิ่มทองแท่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซื่อตรงกรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สินเชื่อกู้ซื้อบ้านที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับผู้ซื้อบ้านเกินกว่า 90-95% นั้น ในปัจจุบันยังมีอยู่ในบางโครงการ ซึ่งเป็นโครงการของบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ตาม ในการปล่อยกู้ธนาคารจะพิจารณาเครดิตของโครงการนั้นๆ ด้วย โดยธนาคารที่ปล่อยกู้จะเป็นผู้พิจารณาเองว่าควรจะปล่อยกู้ในวงเงินเท่าใด เช่น การปล่อยสินเชื่อของธนาคารปกติอยู่ในระดับ 80-90% สำหรับโครงการที่ไม่ใหญ่และเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่หากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบงก์ก็อาจพิจารณาปล่อยกู้สูงถึง 90-95% เป็นต้น โดยพิจารณาความสามารถของลูกค้าประกอบด้วย นอกจากนี้การจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าที่ซื้อบ้าน เช่น จ่าย 50,000 บาท สามารถเข้าอยู่ได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางส่วนนำมาใช้นั้น ตนมองว่าเป็นเพียง gimmick ทางการตลาด ที่ต้องการขายสินค้าให้ได้เร็วขึ้น "ผมว่าการที่แบงก์ชาติออกกฎมาควบคุมการปล่อยสินเชื่อเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นการสกรีนลูกค้าที่ไม่มีความสามารถในการชำระค่างวดในระดับหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม การปล่อยกู้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของแบงก์ที่มีต่อผู้ประกอบการด้วย" นายรุ่งรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้นกว่าเดิม เพราะผู้ประกอบการบางโครงการพยายามกำหนดราคาซื้อ-ขายบ้านสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ลูกค้าสามารถกู้ซื้อบ้านจากแบงก์ได้มากขึ้น ทราบว่าก่อนหน้านี้แบงก์บางแห่งตรวจสอบการดำเนินการในลักษณะนี้บ้างแล้ว และได้ขึ้นแบล็กลิสต์โครงการและผู้ประกอบการรายนั้นแล้ว หลังเกิดปัญหานี้ขึ้นทราบว่ากรณีอย่างนี้จะเป็นประเด็นใหม่ที่แบงก์จะนำไปพิจารณาประกอบในการปล่อยสินเชื่อด้วย ในส่วนของบริษัทนั้น ในเดือนกรกฎาคมนี้จะออกโปรโมชั่นอยู่ฟรี 2 ปี โดยบริษัทจะเป็นผู้แบกรับภาระในการผ่อนชำระค่างวดกับธนาคารให้เป็นเวลา 2 ปีแรก และให้ลูกค้าเริ่มผ่อนค่างวดเงินในปีที่ 3 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม บริษัทได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมแคมเปญว่า จะต้องจ่ายเงินดาวน์และเป็นผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อกับธนาคารแล้ว ซึ่งวิธีนี้สถาบันการเงินก็จะไม่มีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เพราะบริษัทเป็นผู้แบกรับภาระช่วง 2 ปีแรก คาดว่าแคมเปญนี้จะได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก
|