คาดการณ์กันว่าหลังจากที่ศูนย์ราชการบนถนนแจ้งวัฒนะที่มีพื้นที่กว่า 300 ไร่ เปิดให้บริการวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 2551จะทำให้การจราจรบนถนนแจ้งวัฒนะกลายสภาพเป็นอัมพาต โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยสถิติข้าราชการที่จะหลั่งไหลเข้าไปทำงานภายในศูนย์นั้นมีถึง 25,000 คน เป็นผลให้ปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้น 6,800 คันต่อชั่วโมง เพื่อเป็นการรองรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทางบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาโครงข่ายระบบคมนาคมที่จะเข้ามาเสริม ให้ถนนแจ้งวัฒนะเกิดความคล่องตัวมากขึ้น นายวิมล จันทร์จิราวุฒิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผย ว่าแม้ปัจจุบันถนนแจ้งวัฒนะจะขยายเป็น 8 ช่องจราจร มีการก่อสร้างโครงการสะพานห้าแยกปากเกร็ด แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากมีทางเข้า-ออกแค่ทางเดียว บริเวณถนนแจ้งวัฒนะซอย 7 หรือกองบัญชาการทหารสูงสุด ดังนั้นจึงต้องมีการก่อสร้างทางเข้า-ออกหลายๆ ทาง เพื่อระบายการเข้า-ออกภายในศูนย์ราชการและนอกศูนย์ราชการ "นอกจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่จะมีสถานีจอดที่หลักสี่ มีอีกหลายโครงการที่ต้องก่อสร้างเพิ่มเติม เช่น กรมทางหลวงจะก่อสร้างทางยกระดับบนถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะขยายถนนประชาชื่นที่เป็นคอขวดอยู่ สะพานข้ามแยกประชาชื่น ทางยกระดับทำเป็นทางเข้า-ออกศูนย์ราชการ ทำทางออกบริเวณถนนวิภาวดี เป็นต้น มีทั้งที่ ธพส.ออกเงินทำเอง และหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการ เช่น กรมทางหลวง กทม." ทุ่มงบฯกว่า 6 พันล้าน เนรมิตถนนโดยรอบ ตามแผนงานที่ศึกษาไว้ใช้เงินลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท มีทั้งเงินลงทุนจาก ธพส.และกรมทางหลวงและ กทม. นอกเหนือจากถนนภายในโครงการ (ดูตามแผนที่) ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้เลยคือโครงการขยายช่องทางการจราจรบริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ให้ลึกเข้าไปอีก 10 เมตร โดยจะมีการรื้อรั้วบริเวณด้านหน้าออก จะทำให้มีช่องการจราจรบริเวณนี้เพิ่มขึ้นอีก 2 ช่องจราจรได้ ใช้งบฯลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ตามมาด้วยโครงการก่อสร้างทางยกระดับเข้า-ออกศูนย์ราชการด้านถนนแจ้งวัฒนะ บนถนนหมายเลข 2 ซึ่งสุดเขตพื้นที่ศูนย์ราชการใกล้กับปั๊มเชลล์ จะสร้างอยู่บนเกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะ ความสูง 14 เมตร วงเงินลงทุน 158 ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน เพราะอาจจะต้องมีการเวนคืนที่ดินและอาคารบางส่วนริมด้านใต้ถนนแจ้งวัฒนะ โดยผู้ที่เดินทางมาจากปากเกร็ดสามารถขึ้นสะพานเลี้ยวขวาเข้าศูนย์ราชการได้เลย ส่วนผู้ที่จะเดินทางออกจากศูนย์ราชการสามารถใช้ทางยกระดับตัวนี้เลี้ยวขวาได้ โครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนแจ้งวัฒนะ ในช่วงแรก จะทำตั้งแต่ซอยแจ้งวัฒนะ 1 เชื่อมต่อกับทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ถึงบริเวณซอยแจ้งวัฒนะ 26 เชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 2 ขนาด 6 ช่องจราจร โดยแนวเส้นทางจะอยู่บนเกาะกลางถนนแจ้งวัฒนะ ความสูง 14 เมตร จากระดับพื้น ในอนาคตจะต่อเชื่อมถึงถนนวงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก มูลค่าลงทุน 4,066 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 3,106 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดิน 839 ล้านบาท และค่าชดเชยอาคาร 120 ล้านบาท เพราะอาจจะต้องมีการเวนคืนบริเวณทำทางเชื่อมกับโทลล์เวย์และทางด่วนขั้นที่ 2 โครงข่ายต่อเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์เพิ่มเพื่อเข้า-ออกศูนย์ราชการ ทำเป็นแลมป์ทางขึ้นโทลล์เวย์จากสะพานข้ามแยกหลักสี่ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากปากเกร็ดต้องการมาขึ้นโทลล์เวย์เพื่อเข้าเมืองหรือออกนอกเมือง โดยจะสร้างด่านเก็บเงินเพิ่มเติม จากปัจจุบันบริเวณนี้จะไม่มีทางขึ้น ถ้าจะใช้โทลล์เวย์ต้องไปกลับรถแถวดอนเมือง เงินลงทุน 190 ล้านบาท ขยายแลมป์ทางลงจากดอนเมืองโทลล์เวย์อีก 1-2 ช่องจราจร เข้าแจ้งวัฒนะซอย 5 เชื่อมศูนย์ราชการ วงเงิน 144 ล้านบาท ปัจจุบันมีทางลงอยู่แล้วตรงแยกหลักสี่ แต่เป็นทางพื้นที่และรถมาติดเป็นคอขวด โครงการขยายถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 11) ช่วงถนนแจ้งวัฒนะถึงโรงงานผลิตน้ำบางเขน ปัจจุบันจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร โดยจะใช้พื้นที่บริเวณคลองส่วยฟากเดียวกับโครงการหมู่บ้านแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แกรนด์คาแนล ยิ่งรวยนิเวศน์ ใช้งบฯลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงมีแผนจะตัดเกาะกลางบนถนนแจ้งวัฒนะออก เพื่อให้คนที่ใช้ถนนเส้นนี้สามารถเลี้ยวขวาไปยังถนนแจ้งวัฒนะและศูนย์ราชการได้ จากเดิมต้องไปกลับรถที่เมืองทองธานี และในปี 2549 นี้ กรมทางหลวงมีแผนจะก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณนี้ เพื่อให้รถทางตรงวิ่งและก่อสร้างสะพานข้ามแยกบริเวณเมืองทอง 3 โครงการขยายถนนแจ้งวัฒนะซอย 5 (ถนนหมายเลข 12) จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ให้เชื่อมต่อกับศูนย์ราชการ โดยใช้แนวถนนหน้าแฟลตไปรษณีย์ไทย ถนนหน้าคลังพัสดุและก่อสร้างถนนใหม่เชื่อมต่อกับศูนย์ราชการด้านใต้อาคารโซนบี งบฯลงทุนประมาณ 34 ล้านบาท โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนประชาชื่นกับศูนย์ราชการ (ถนนหมายเลข 10) งบฯลงทุนประมาณ 65 ล้านบาท บริเวณพื้นที่ของโรงงานผลิตน้ำบางเขนและโครงการนอร์ธปาร์ค ใกล้กับถนนโรงกรองน้ำบางเขนประตู 1 โครงการก่อสร้างถนนหมายเลข 8 หรือถนนเชื่อมถนนกำแพงเพชร 6 หรือถนนโลคอลโรดกับถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนแจ้งวัฒนะซอย 5 (ถนนหมายเลข 12) ขนาด 4 ช่องจราจร งบฯลงทุน 102 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 39 ล้านบาท ค่าชดเชยที่ดิน 54 ล้านบาท และค่าชดเชยอาคาร 9 ล้านบาท โดยจุดเริ่มต้นจากถนนโลคอลโรดบริเวณลานจอดรถโรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ตัดข้ามคลองเปรมประชากร เลียบด้านใต้แนวคลองบางตลาดในที่ดินราชพัสดุ ซึ่งครอบครองโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตัดข้ามคลองบางตลาด ใช้พื้นที่ชิดแนวรั้วของเคหะชุมชนหลักสี่ ผ่านกลุ่มบ้านพักอาศัย และพื้นที่บริเวณอาคารซ่อมบำรุง เรือนเพาะชำของโครงการนอร์ธปาร์ค สิ้นสุดที่ถนนหมายเลข 12 (แจ้งวัฒนะซอย 5) บริเวณที่ว่างระหว่างคลังพัสดุและแฟลตไปรษณีย์ไทย กทม.ขยายถนนเพิ่มอีก 2 สาย เลียบคลองประปา-แจ้งวัฒนะ 14 นอกจากนี้ยังมีโครงการในแผนแม่บทด้านการจราจรและขนส่งในพื้นที่ปิดล้อมของ กทม.อยู่ 2 โครงการ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตามแผนมีกำหนดการจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2549 และแล้วเสร็จปี 2551 พอดีกับเปิดศูนย์ราชการ ประกอบด้วยถนนสายรองแนวตะวันออก-ตะวันตก (วิภาวดีรังสิต-โกสุมรวมใจ-โกสุมสามัคคี-เลียบคลองประปา) ระยะทาง 4 กิโลเมตร จะเป็นการก่อสร้างใหม่จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร งบฯลงทุนประมาณ 481 ล้านบาท เป็นงบฯก่อสร้าง 229 ล้านบาท ค่าเวนคืน 252 ล้านบาท ถนนสายรองแนวเหนือ-ใต้ (ซอยแจ้งวัฒนะ 14-สรงประภา) ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร งบฯลงทุนประมาณ 620 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 235 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 385 ล้านบาท ปรับปรุงจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ว่ากันว่าการลงทุนสร้างโครงข่ายรอบทิศของศูนย์ราชการในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปมปัญหาการจราจรเท่านั้น ยังเป็นการเปิดมิติใหม่ของทำเลที่อยู่อาศัยโดยรอบศูนย์ราชการด้วย เพราะยังมีพื้นที่ว่างที่รอการพัฒนาอีกจำนวนมากที่ซุกซ่อนอยู่รอบนอก ที่รอวันพัฒนารองรับกับการเติบโตที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ |