ปัญหาใหญ่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่ นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นก็คือ ปัญหาการขน ส่งและจราจรในเขตเมืองเชียงใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาในเขตภาคเหนือตอนบนในอนาคต ปัจจุบันการเดินทางในเมืองเชียงใหม่ยังใช้รถ ส่วนตัวสูงถึงร้อยละ 91 โดยระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่คือ รถสองแถวสี่ล้อแดง ไม่สามารถตอบสนองปริมาณการเดินทางที่มีสูงกว่า 1.8 ล้าน เที่ยว-คนต่อวัน ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์สถานการณ์ด้านการจราจรของเมืองเชียงใหม่ว่า อีก 4 ปีข้างหน้าการจราจรที่ติดขัดจะขยายวงกว้างในเขตศูนย์กลางเมืองภายในถนนวงแหวนรอบใน และภายใน ไม่เกิน 10 ปี โครงข่ายถนนในเขตผังเมืองจะเต็มความจุ การจราจรติดขัดจะแผ่ขยายครอบคลุมถนนสายหลักเกือบทุกเส้นทาง จ้าง ม.เชียงใหม่ทำแผนแม่บท ล่าสุด สนข.ได้ว่าจ้างสถานบริการวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นผู้ศึกษาจัดทำแผนแม่บทและออกแบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ เริ่มดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 10 เดือน และวางเป้าหมายให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ได้ในปี 2550 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี และจะเปิดใช้บริการระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยได้ภายในปี 2552 นายเฉลิมศักดิ์ ระบิลวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า การตั้งรับของเมืองเชียงใหม่ ต้องพัฒนาให้เมืองมีความสมดุล ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ประชากรส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัวในการเดินทางสูงกว่าร้อยละ 90 โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์มีสัดส่วนมากที่สุดราวร้อยละ 43.3 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลร้อยละ 32.1 รถปิกอัพร้อยละ 15.5 ทั้งยังมีแนวโน้มการจดทะเบียนยานพาหนะเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันมียอดการจดทะเบียนยานพาหนะส่วนบุคคลมากกว่า 1 ล้านคัน ซึ่งหากเมืองขยายเติบโตขึ้นมากกว่านี้เชียงใหม่ก็คงถึงทางตัน หากยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนรองรับ ดร.รังสรรค์ อุดมศรี นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้จัดการโครงการจัดทำแผนแม่บทและออก แบบเพื่อก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ (Chiangmai Transit System : CTS) กล่าวว่า ผลการศึกษาในเบื้องต้นหลายด้าน อาทิ การวิเคราะห์ด้านการจราจร พบว่าร้อยละ 55 ของปริมาณการเดินทางมีจุดหมายปลายทางอยู่ในพื้นที่ถนนวงแหวนรอบในสุด มีปริมาณยานพาหนะเข้า-ออกเขตผังเมืองรวมสูงกว่า 150,000 คันต่อวัน ซึ่งระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่คือ รถเมล์ของเทศบาลนครเชียงใหม่และรถสี่ล้อแดง มีสัดส่วนผู้ใช้บริการประมาณร้อยละ 5 ของปริมาณการเดินทางของประชากรในพื้นที่ และจากการประเมินสภาพการจราจรใน 10 ปีข้างหน้าการจราจรติดขัดจะแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่ในเขตถนนวงแหวนรอบกลาง ชี้ระบบขนส่งขนาดเบาเหมาะสม ส่วนการวิเคราะห์โครงข่ายเส้นทางประเมินได้ว่าระบบขนส่งมวลชนในระยะ 10 ปี ควรต้องรองรับผู้ใช้บริการได้ 300,000 เที่ยว-คนต่อวัน มีเส้นทางเดินรถครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองอย่างน้อยภายในถนนวงแหวนรอบกลาง และเชื่อมโยงการเดินทางไปสู่ส่วนต่างๆ ของเมืองได้สะดวกและมีเส้นทางที่สอดคล้องกับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรม สถานีขนส่ง ศูนย์การศึกษา และแหล่งท่องเที่ยวของเมืองได้สะดวก ซึ่งโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมเบื้องต้นควรมีโครงข่ายเส้นทางระยะทางรวมประมาณ 60 กิโลเมตร ขณะที่ผลการศึกษาการวิเคราะห์เทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่ ควรเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดเบา ที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาที่ถูกพิจารณาในการศึกษานี้ ประกอบด้วย รถรางไฟฟ้าขนาดเบา (light rail transit) รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (mono-rail) รถ เมล์ราง (street-car) และรถบัสด่วนพิเศษ (bus rapid transit) ซึ่งการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่าระบบขนส่งมวลชนขนาดเบาที่วิ่งบนดินและมีเขตทางเฉพาะ มีความเหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่หลาย ประการ คือ สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายกว่า ก่อสร้างได้ง่ายและรวดเร็ว ขนาดการลงทุนไม่สูงและให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่า สะดวกในการใช้บริการและสอดคล้องกับพฤติกรรมการเดินทางของคนเชียงใหม่ และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เหมาะสมกว่าระบบอื่นๆ โดยผลการศึกษาเบื้องต้นนี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากประชาชน และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องราวเดือนพฤษภาคม 2549 ด้าน นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาเทศบาลนครเชียงใหม่จะแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีระบบรถประจำทางหรือรถเมล์ ขสชม. วิ่งให้บริการในเขตเมือง แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในการใช้บริการมากนัก เนื่องจากจำนวนรถยังมีปริมาณน้อยเกินไปเพียง 26 คัน รวมถึงเส้นทางให้บริการยังไม่สอดคล้องและครอบคลุมพื้นที่สำหรับการเดินทางของประชาชน ซึ่งต้องยอมรับว่าเทศ บาลมีงบประมาณจำกัดที่จะซื้อรถเพิ่มเติม ขณะที่ปัจจุบันยังต้องแบกภาระการขาดทุนของการบริการรถเมล์ ขสชม.ถึงเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท เปิดเส้นทางหลัก 4 สาย ทั้งนี้ผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปเส้นทางหลักที่มีความเหมาะสมมากที่สุด 4 เส้นทาง คือ สายที่ 1 สายแนวเหนือ-ใต้ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่ศูนย์ราชการ-ถนนเชียงใหม่-แม่ริม-ประตูช้างเผือก-ประตูท่าแพ-ประตูเชียงใหม่-ศูนย์วัฒนธรรม-สี่แยกแอร์พอร์ต-ถนนเชียงใหม่-หางดง-โลตัส-สำนักงานขนส่ง-สิ้นสุดที่ไนท์ซาฟารี สายที่ 2 สายแนวตะวันตก-ตะวันออก ระยะทาง 15 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สวนสัตว์เชียงใหม่-ถนนห้วยแก้ว-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-แยกรินคำ-กาดสวนแก้ว-แจ่งหัวริน-ประตูเชียงใหม่-ประตูท่าแพ-ถนนท่าแพ-แยกอุปคุต-ข้ามแม่น้ำปิง-ถนนเจริญ เมือง-แยกสันป่าข่อย-สถานีรถไฟ-แยกหนองประทีป-ถนนเชียงใหม่-สันกำแพง-สิ้นสุดบริเวณบวกครก สายที่ 3 สายแนวตะวันตก-ตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เริ่มต้นที่สนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุม-ถนนเลียบคลองชลประทาน-แยกภูคำ-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ถนนสุเทพ-ตลาดต้นพะยอม-วัดสวนดอก-โรงพยาบาลมหาราช-ประตูสวนดอก-ประตูเชียงใหม่-ประตูท่าแพ-แจ่ง ศรีภูมิ-ถนนรัตนโกสินทร์-โรงเรียนปรินส์รอแยลฯ-สถานีขนส่งอาเขต แล้วแตกเป็น 2 เส้นทาง เส้นหนึ่งข้ามแยกศาลเด็ก-ถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ผ่านตลาดสันทราย สิ้นสุดที่หมู่บ้านรีเจนท์ อีกเส้นแยกไปตามถนนซูเปอร์ไฮเวย์-ถนนเชียงใหม่แม่โจ้-ตลาดรวมโชค สิ้นสุดที่หมู่บ้านล้านนาวิว สายที่ 4 สายในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินรถแบบเดินทางเดียววนรอบ เริ่มต้นที่ประตูท่าแพ-ถนนท่าแพ-โรงเรียนพระหฤทัย-ถนนช้างคลาน-แยกแสงตะวัน-ถนนศรีดอนไชย-วัดพวกช้าง-เข้ารอบคูเมืองที่แจ่งกะต๋ำ และไปครบรอบที่ประตูท่าแพ ทั้งนี้ เส้นทางทั้งหมดผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปได้ทุกเส้นทางด้วยการต่อรถที่สถานีบริเวณรอบคูเมือง ซึ่งจะมีความสะดวกที่ผู้โดยสารสามารถเดินทางไปส่วนต่างๆ ของเมืองได้ด้วยการต่อรถเพียงครั้งเดียว นายบุญเลิศกล่าวด้วยว่า หลังจากจัดทำแผนแม่บทเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจะนำโครงการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนที่มีความเหมาะสมกับสภาพเมืองมากที่สุดและใช้งบประมาณน้อยกว่าขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นๆ อาจเลือกใช้ระบบรถบัสด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit : BRT) ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 7,000 ล้านบาท คาดว่าราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ นับจากนี้คงต้องจับตาดูกันว่า ระบบขนส่งมวลชนมูลค่า 7,000 ล้านบาท ที่จะเป็นเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ใหม พัฒนาอย่างยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ในอนาคต |