กรมที่ดินเปิดมิติใหม่ขออนุญาตจัดสรร จับมือ 18 หน่วยงาน ออกหลักเกณฑ์และขั้นตอนการให้บริการแบบศูนย์บริการร่วม หรือวันสต็อปเซอร์วิส หวังลดระยะเวลาช่วยดีเวลอปเปอร์ลดต้นทุน ล้อมคอกปัญหาความล่าช้า ยืมมือ ครม.กำหนดกรอบเวลาที่แต่ละหน่วยงานจะพิจารณาออกใบอนุญาต-ใบรับรองที่ชัดเจนล่วงหน้า ประเดิมใช้ใน กทม.ก่อนขยายครอบคลุมทั่วประเทศ แหล่งข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผยว่า จากที่นายพีรพล ไตรทศวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน มีนโยบายที่จะปรับปรุงการให้บริการด้านการยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดิน เพื่อให้มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินการ รวมทั้งมีความโปร่งใสขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้ประกอบการภาคเอกชน ขณะนี้กรมที่ดินได้ร่างหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขออนุญาตจัดสรรที่ดินแบบศูนย์บริการร่วม หรือการให้บริการแบบ one stop service เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 18 หน่วยงาน เพื่อจัดทำคู่มือปฏิบัติงานของศูนย์ร่วมบริการ โดยจะทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมระหว่างหน่วยงาน คาดว่าอย่างช้าประมาณเดือนตุลาคม 2549 มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ "มาตรการนี้เราจัดทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน คือผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินที่ต้องการให้หน่วยงานราชการให้บริการแบบ one stop service เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว เพราะหากทำได้อย่างนั้นจะช่วยลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการได้อย่างมาก ซึ่งเอกชนพยายามผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด เนื่องจากปัจจุบันการยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดินแต่ละครั้ง เอกชนต้องติดต่อขอใบอนุญาตและหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐเกือบ 20 หน่วยงาน ดังนั้นถ้าสามารถให้บริการแบบรวมศูนย์ได้ก็จะช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลาได้มาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะกรมที่ดินจะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อออกใบอนุญาต ใบรับรองเอง เอกชนเพียงแค่ต้องเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้พร้อมเท่านั้น" แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมที่ดินเริ่มดำเนินการโครงการนี้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548) โดยได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขอจัดสรรที่ดินแบบศูนย์บริษัทร่วมขึ้น จากนั้นได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนและตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว จากนั้นได้นำเสนอหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการขออนุญาตจัดสรรที่ดินแบบศูนย์บริการร่วม ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ และขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 18 หน่วยงาน เพื่อจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของศูนย์บริการร่วม แล้วจะจัดประชุมหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมข้อมูลจัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์บริการร่วมนำเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรี โดยผ่านทางกระทรวงมหาดไทย เมื่อโครงการดังกล่าวได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ก็จะจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 18 หน่วยงาน โดยจะกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาออกใบรับรองและใบอนุญาตต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนในการดำเนินธุรกิจได้คล่องตัวและรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม "สาเหตุที่นำเรื่องนี้เข้า ครม.ก็เพื่อให้การให้บริการออกใบอนุญาตจัดสรรแบบวันสต็อปเซอร์วิสมีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม โดยอาศัยมติ ครม.ที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนให้แต่ละหน่วยงานยึดถือปฏิบัติ เช่น การออกใบอนุญาตเชื่อมทางของกรมทางหลวง ใบอนุญาตน้ำทิ้งที่ออกโดยกรมชลประทาน การขอติดตั้งมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น เมื่อคู่มือให้บริการขออนุญาตจัดสรรที่ดินแบบวันสต็อปเซอร์วิสเสร็จเรียบร้อย แต่ละหน่วยงานจะต้องออกใบอนุญาตและใบรับรองภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินรวดเร็วขึ้น หากผู้ประกอบการมีเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อม จะไม่ล่าช้าเหมือนที่ผ่านมาอีก" อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่รวม ขั้นตอนในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการ วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (ไออีอี) เนื่องจากการพิจารณาอีไอเอและไออีอีเป็นอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาที่แน่นอนตายตัวได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อม โดยการขออนุญาตจัดสรรที่ดินแบบศูนย์บริการร่วมหรือวันสต็อปเซอร์วิสจะให้บริการใน กทม.ก่อน จากนั้นจะขยายการบริการให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป เป้าหมายก็เพื่อลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตจัดสรร ที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดระยะเวลาไว้ประมาณ 52 วัน ให้เร็วขึ้นอีก ขณะเดียวกัน ดร.พีรพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน กล่าวว่า ขณะนี้กรมที่ดินมีแนวคิดที่จะจัดทำระบบ E-land office หรือสำนักที่ดินอัตโนมัติ ระบบดังกล่าวเป็นโมเดลที่ใช้ในประเทศออสเตรเลีย โดยได้ตั้งงบประมาณการลงทุน 6-7 พันล้านบาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาถึงแนวทางปฏิบัติในเชิงลึก โดยเชิญคณาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาศึกษา คาดว่าภายในปี 2549-50 จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการประชาชนและผู้ประกอบการได้ทั่วประเทศ เป้าหมายก็เพื่อให้บริการแบบ one stop service แต่เนื่องจากงบประมาณการลงทุนค่อนข้างสูง ทางกรมจึงมีแนวคิดที่จะเปิดให้เอกชนหรือสถาบันการเงินเข้ามาประมูล ซึ่งธนาคารกรุงไทยได้เสนอตัวเข้าเป็นผู้จัดทำระบบ "เพื่อให้กรมที่ดินมีรายได้จึงมีแนวคิดที่จะจัดเก็บค่าบริการจากผู้มาใช้บริการ ซึ่งจะมีการจัดมาตรฐานอัตราค่าบริการไว้ วิธีการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของกรมเรียกเก็บค่ามาใช้บริการจากผู้มาใช้บริการ และหากผู้ประกอบการรายใดต้องการความรวดเร็ว (fast tract) เช่น ต้องการให้เสร็จอย่างรวดเร็วก็จะต้องจ่ายค่าบริการพิเศษตามอัตรามาตรฐานที่กำหนด โดยรายได้ที่เข้ามาจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 50% เข้ารัฐบาล ที่เหลือ 50% เอามาเป็นค่าดำเนินงานของเจ้าหน้าที่" ดร.พีรพลกล่าว |