รัฐงัดกฎเหล็กคุมเข้มอาคารสาธารณะ 6 ประเภท ทั้งตึกสูง คอนโดฯ โรงแรม โรงหนัง ศูนย์การค้า ป้ายโฆษณา ล้อมคอกปัญหาไฟไหม้ ตึกทรุด บีบผู้ประกอบการทำประกันภัยคุ้มครองชีวิต-ทรัพย์สินบุคคลที่ 3 วงเงิน 1 แสนบาท/ราย หากไม่คุ้มเรียกชดเชยได้เพิ่มอีกต่างหาก ตั้งเงื่อนไขไม่ทำประกัน ไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้าง มท.1 ไฟเขียวบังคับใช้แล้ว แค่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา เผยเจ้าของโครงการต้องจ่ายเบี้ยประกันตั้งแต่ 0.5-5% แล้วแต่ความเสี่ยง วงการประกันภัยชี้เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ถ้าทำทั้งระบบอัตราเบี้ยประกันมีสิทธิปรับลดลง นายสว่าง ศรีศกุน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมโยธาฯจะออกกฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือ ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการต้องทำประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามแล้ว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่าง รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะออกประกาศและมีผลบังคับใช้ได้กับประเภทอาคารที่กำหนดทั่วประเทศ ภายในเดือนสิงหาคมนี้ การดำเนินการดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และมาตรา 8 (13) และ (16) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2543 สาเหตุที่มีการออกกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว เป็นเพราะที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงแรม อาคารสาธารณะ ตึกทรุด ฯลฯ หลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่มีการคุ้มครองความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดขึ้นกับบุคคลภายนอกที่ไปใช้อาคาร เนื่องจากเจ้าของอาคารไม่ได้ทำประกันภัยไว้ กรมโยธาฯและคณะกรรมการควบคุมอาคารจึงเห็นว่าควรออกกฎกระทรวงมาเยียวยา และคุ้มครองบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 ชั้นหนึ่งก่อน อย่างไรก็ตาม หากผู้เสียหายได้รับความเสียหายเกินจากที่เจ้าของอาคารและบริษัทประกันภัยกำหนดไว้ ก็สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้อีกต่างหาก เรื่องนี้มีการผลักดันมานาน แต่เพิ่งผ่านการพิจารณาและเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา นายสว่างกล่าวว่า สาระสำคัญของกฎกระทรวงจะกำหนดให้อาคารของเอกชน ที่ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก หรือบุคคลที่ 3 ประกอบด้วยอาคาร 6 ประเภท คือ - อาคารสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรืออาคารตั้งแต่ 7 ชั้น หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ที่มีขนาดพื้นที่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป
- อาคารชุมนุมคนขนาดพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือชุมนุมคนได้ตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป เช่น คอนโดมิเนียม หอประชุม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
- โรงมหรสพ อาคารหรือส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสถานที่สำหรับฉายภาพยนตร์ แสดงละคร แสดงดนตรี หรือการแสดงรื่นเริงอื่นใด เปิดให้สาธารณชนเข้าชม
- โรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
- ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคา หรือดาดฟ้าของอาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป
ทั้งนี้ กฎกระทรวงได้ให้นิยามความหมายของคำว่า "บุคคลภายนอก" ที่จะได้รับความคุ้มครองว่า หมายถึง บุคคลที่ไม่ได้ทำงานในอาคาร แต่เข้าไปใช้บริการ หรือติดต่องานในอาคาร "เมื่อกฎกระทรวงนี้บังคับใช้แล้ว ต่อไปเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการในอาคารทั้ง 6 ประเภท จะต้องทำประกันสำหรับบุคคลภายนอกทันที ไม่ว่าจะเป็นอาคารเก่าหรืออาคารใหม่ โดยผู้ประกอบการที่จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารเหล่านี้จะต้องจัดทำประกันภัยก่อน จึงจะได้รับอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือใช้อาคาร" นายสว่างกล่าวและว่า ในบทเฉพาะกาลของกฎกระทรวง ได้มีการกำหนดระยะเวลาให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดำเนินการ ต้องจัดให้มีการประกันภัยในอาคาร ภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน นับแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และจะต้องแสดงสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผย และเห็นได้ง่ายในอาคารนั้นๆ "กฎหมายฉบับนี้ทำให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คงไม่มากเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับเจ้าของอาคารจะกำหนดอัตรากรมธรรม์ประกันภัยไว้ยังไงกับบริษัทประกันภัย ขั้นตอนต่อไปกรมการประกันภัยจะเป็นผู้กำหนด และคำนวณออกมา แต่ละอาคารจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง เพราะกฎกระทรวงไม่ได้ให้อำนาจให้กรมโยธาฯกำหนดวงเงินประกันภัย รวมถึงบทลงโทษได้เอง" ทั้งนี้ ในส่วนนี้กรมโยธาฯได้เสนอแผนการพัฒนากฎหมายของกรมโยธาฯไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยเสนอขอแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคาร เกี่ยวกับการให้อำนาจในการกำหนดวงเงินประกันภัย และอำนาจกำหนดบทลงโทษ ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. นายชาลี วิสุทธิวัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักวินาศภัย กรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะบังคับให้เจ้าของอาคารทำประกันภัยสำหรับบุคคลที่ 3 ไว้วงเงิน 1 แสนบาทต่อคน สำหรับกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ จากเดิมเป็นไปตามความสมัครใจ และในกฎกระทรวงไม่ได้กำหนดวงเงินไว้ ส่วนเบี้ยประกันนั้น ต้องรอให้ กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้ก่อน จึงจะกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งหมดจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้ "นายถนัด จีรชัยไพศาล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามัคคีประกันภัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การออกพระราชบัญญัติความรับผิดทางกฎหมายต่อบุคคลที่ 3 ของอาคารสูงและอาคารสาธารณะ ซึ่งกรมโยธาฯต้นคิดนั้น กรมประกันภัยจะเกี่ยวข้องในส่วนของออกแบบกรมธรรม์ และการกำหนดอัตราเบี้ยประกัน ซึ่งน่าจะกำหนดอัตราเบี้ยประกันไว้เป็นช่วงกว้างๆ โดยอาจจะอยู่ที่ระดับ 0.5-5% จากนั้นจะให้บริษัทประกันภัยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยอาคารแต่ละประเภทเอง โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของแต่ละอาคาร อาคารไหนความเสี่ยงสูงอัตราเบี้ยประกันภัยก็สูง ซึ่งความเสี่ยงที่จะนำมาพิจารณาจะมีตั้งแต่ประสบการณ์ของผู้บริหารอาคาร ระบบการป้องกันภัย และความชำนาญการของพนักงาน ฯลฯ จากนั้นจึงนำมากำหนดอัตราเบี้ยประภันภัย "ที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายบังคับ ก็มีเจ้าของตึกทำประกันที่มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงความ รับผิดชอบต่อบุคคลที่ 3 อยู่แล้ว โดยข้อมูลจากบริษัทไทยรับประกันภัยต่อ รายงานว่า ปัจจุบันสัดส่วนของอาคารที่ให้ความคุ้มครองในเรื่อง ดังกล่าวมีประมาณ 30% ของจำนวนอาคารสาธารณะทั้งหมด เพราะเจ้าของอาคารอาจจะมองเห็นความสำคัญในจุดนี้อยู่แล้ว แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาอาจทำให้เจ้าของอาคารซื้อกรมธรรม์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 50-60%" ในส่วนนี้ บุคคลที่ 3 จะได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีโอกาสจะได้รับการชดเชยมากขึ้น เพราะเมื่อได้รับความเสียหายทางทรัพย์สิน หรือได้รับบาดเจ็บอันเนื่องจากตัวอาคาร เจ้าของอาคารก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัยได้ ในขณะที่หากไม่มีการทำประกันภัย เจ้าของตึกอาจจะไม่ยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย และอาจจะมีปัญหายืดเยื้อได้ เพราะตกลงกันไม่ได้ ด้านนายวาสิต ล่ำซำ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ภัทรประกันภัย ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า อัตราเบี้ยประกันภัยของอาคารสาธารณะและตึกสูง ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายและการบาดเจ็บต่อบุคคลที่ 3 น่าจะต่ำกว่าปัจจุบัน แต่ยังไม่มีการกำหนดแน่นอนว่าจะเป็นเท่าไหร่ เพราะต้องพิจารณาจากความเสี่ยงของแต่ละอาคารเป็นสำคัญ นายชาติชาย ชินเวชกิจวาณิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เทเวศประกันภัย กล่าวว่า การคำนวณเบี้ยประกันภัยของการซื้อความคุ้มครองต่อบุคคลที่ 3 ของตึกสูงและอาคารสาธารณะนั้น บริษัทจะพิจารณาจากความเสี่ยงของแต่ละอาคารเป็นหลัก โดยความเสี่ยงที่ต้องนำมาพิจารณามี 3 ปัจจัยหลักๆ คือ 1.จำนวนเนื้อที่ของแต่ละอาคาร ถ้ามีเนื้อที่มาก เบี้ยประกันก็ต้องสูงกว่าอาคารที่มีเนื้อที่น้อย 2.วัตถุประสงค์ในการใช้อาคาร เช่น อาคารสำนักงาน อัตราเบี้ยประกันต้องสูงกว่าอาคารทั่วไป เพราะมีบุคคลภายนอกเข้าออกมากกว่า และ 3.ระบบป้องกันภัย อาคารที่มีระบบป้องกันภัยที่ดีอัตราเบี้ยประกันจะถูกกว่า
|