การมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเองสักหนึ่งหลัง ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกว่าจะเก็บหอมรอมริบได้เงินก้อน เป็นภาระหนักของประชาชนที่ต้องทำงานอย่างหนักเก็บเล็กผสมน้อยจนได้เงินมาผ่อนดาวน์บ้าน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเก็บออมนานพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวที่จะมีกรรมสิทธิ์ครอบครองบ้านสักหลัง ทำให้ภาครัฐบาลได้พยายามเข้ามาช่วยเหลือในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกรองรับลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยมอบหมายให้การเคหะแห่งชาติจัดสร้าง บ้านเอื้ออาทร ขึ้นมา เพื่อเป็นที่พักพิงให้กับประชาชนกลุ่มนี้ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในช่วงเปิดตัวได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดีเยี่ยม แต่หลังจากนั้นกระแสบ้านเอื้ออาทรก็แผ่วลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงานก่อสร้างที่ล่าช้า การจัดหาทำเลที่ตั้งของโครงการยังไม่ลง ตัว รวมถึงการขาดแคลนผู้รับเหมา ทำให้เป้าหมายการสร้างบ้านเอื้ออาทรไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ ล่าสุดการเคหะแห่งชาติ กำลังนำเสนอโปรเจคท์ใหม่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยราคาถูกให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชน รวมถึงมีกลุ่มผู้ประกอบการบางรายได้เข้ามาจับตลาดบ้านราคาถูกเพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับประชาชน ฐิตานนท์ พิบูลนครินทร์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า ในวันอังคารที่ 31 พฤษภาคมนี้ กคช. จะนำเสนอแนวทางการดำเนินโครงการบ้านชนบทให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีรูปแบบใกล้เคียงกับบ้านเอื้ออาทร แต่จะต่างกันตรงที่โครงการบ้านชนบท ประชาชนต้องมีที่ดินของตนเอง โดย กคช. จะเข้าไปช่วยเหลือติดต่อกับผู้ประกอบการผลิตวัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปในรูปแบบแบบถอดประกอบหรือน็อกดาวน์มาสร้างบ้านให้กับประชาชน เช่น บริษัทในกลุ่มไทยผลิตภัณฑ์ยิปซั่ม หรือทีจี โดยวงเงินในการก่อสร้างบ้านชนบทต่อ 1 หลังจะอยู่ในระดับ 1 แสนบาท ซึ่งรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนค่าก่อสร้างให้กับประชาชน 2 หมื่นบาท ส่วนที่เหลืออีก 8 หมื่นบาท ประชาชนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งตามแผนที่วางไว้ กคช. จะก่อสร้างบ้านชนบทให้ได้ปีละ 1 แสนยูนิต โดยจะมีแบบบ้านมาตรฐานให้เลือกด้วย นอกจากนี้ กคช. ยังมีแผนงานที่จะร่วมทุนกับผู้ประกอบการเอกชนเพื่อร่วมลงทุนในที่ดินที่มีศักยภาพทั่วประเทศของ กคช. ในรูปแบบที่ กคช. เป็นผู้ลงทุนที่ดิน ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการ โดยจะเป็นการลงทุนในลักษณะของการปล่อยเช่าที่ดินในระยะยาว 20-30 ปี ล่าสุดได้ลงนามกับห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล เพื่อให้เข้าไปพัฒนาที่ดินกว่า 10 ไร่ในย่านบางพลี และอยู่ระหว่างการเจรจากับห้างคาร์ฟูร์ ที่ต้องการเข้าไปเช่าที่ดินกว่า 30 ไร่ที่เชียงใหม่ ส่วนลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมในโครงการบ้านเอื้ออาทร ในวันที่ 6-12 มิถุนายนนี้ กคช. จะเปิดให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจองบ้านเอื้ออาทรอีกครั้งจำนวน 5 หมื่นยูนิต ส่วนอีก 1.6 หมื่นยูนิตจะเปิดให้จองในต่างจังหวัด โดยจะเปิดรับจองจากประชาชนก่อนเพื่อให้ทราบถึงความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริงก่อนที่จะจัดหาที่ดินและคัดเลือกเอกชนในการก่อสร้าง ซึ่งในปีนี้ตามแผน งานที่วางไว้ กคช. จะต้องหาที่ดินเพื่อสร้างบ้านเอื้ออาทรให้ได้ 9.2 หมื่นยูนิต กรมธนารักษ์ผุดบ้านร่วมมือร่วมใจ วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดโครงการบ้านร่วมมือร่วมใจ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยจะนำที่ดินที่ราชพัสดุมาพัฒนา และจัดสร้างบ้านในลักษณะน็อกดาวน์หรือแบบสำเร็จรูป ซึ่งมีต้นทุนหลังละไม่เกิน 100,000 บาท โดยอยู่ระหว่างหารือกับกรมพลาธิการทหารบกเพื่อนำที่ดินบริเวณ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 781 ไร่ มาเป็นโครงการนำร่อง เพราะจากข้อมูลการลงทะเบียนคนจน ของกระทรวงมหาดไทยพบว่ามีคนจนใน จ.นครราชสีมา กว่า 97,800 คน ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง นอกจากนี้ยังมีที่ดินอีกหลายแห่งที่จะนำมาพัฒนาจัดสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านร่วมมือร่วมใจ อาทิ จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ 78 ไร่ จังหวัดนครพนม 250 ไร่ จังหวัดอุดรธานี 30 ไร่ และจังหวัดชัยภูมิอีก 60 ไร่ ธอส.ดึงบริษัทประกันรับประกันเงินกู้ซื้อบ้าน ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ร่วมมือกับบริษัท แคนาดา มอร์เกท แอนด์ เฮ้าส์ซิ่ง คอร์ปอเรชั่น หรือ ซีเอ็ม เอชซี ผู้ให้บริการประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัยในประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญในธุรกรรมการประกันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ในการบริการประกันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยหรือมอร์เกจ อินชัวรันส์ (เอ็มไอ) ในประเทศไทย โดยจะใช้เวลา 6 เดือนเพื่อศึกษาภาพรวมเศรษฐกิจไทย สภาพแวดล้อมทางการเงิน ระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตลาดที่อยู่อาศัย ทิศทางแนวโน้มนโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการประกันภัยก่อน หลังจากนั้นจะนำข้อมูลไปกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ประกันสินเชื่อ รูปแบบการให้บริการ แนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนกำหนดลักษณะขององค์กรใหม่ที่ให้บริการประกันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การประกันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยเป็นการบริการใหม่ที่มีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากจะเป็นการประกันความเสี่ยงทางการเงินให้กับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบัญชีเงินกู้ที่มีวงเงินกู้ต่อราคาประเมินสูง ทั้งนี้หากผู้กู้ค้างชำระหนี้หรือธนาคารไม่สามารถเรียกเก็บเงินงวดจากผู้กู้ได้ ธนาคารก็จะสามารถเรียกร้องให้บริษัทประกันสินเชื่อรับผิดชอบในการจ่ายหนี้ค้างเต็มจำนวนหรือบางส่วน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของธนาคารในการปล่อยกู้ เพราะนอกจากจะมีหลักทรัพย์เป็นประกันการชำระหนี้แล้ว ยังมีบริษัทประกันในฐานะบุคคลที่ 3 เข้ามาทำหน้าที่ประกันความเสี่ยงในหนี้ที่อาจสูญเพิ่มขึ้นอีก การประกันสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เพราะรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ธนาคารสามารถปล่อยกู้ในวงเงินที่สูงขึ้นเกือบถึง 100% ของราคาประเมินได้ ทำให้ผู้กู้อาจจะไม่ต้องใช้เงินดาวน์หรือจ่ายในสัดส่วนที่น้อยลงในการกู้ซื้อบ้าน เป็นการเพิ่มศักยภาพด้านกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ไชยยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า รัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้เกิดบริการประกันเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage Insurance) ในประเทศไทย เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้คนมีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ซึ่งระบบการประกันเงินกู้รูปแบบใหม่นี้จะช่วยให้ คนซื้อบ้านได้รับความสะดวกมากขึ้นเพราะไม่จำเป็นต้องมีเงินดาวน์ก็สามารถซื้อบ้านได้ กล่าวคือ ไม่ต้องมีเงินดาวน์ถึง 20% ของราคาบ้านตามที่ผู้ขายส่วนใหญ่กำหนด เพียงแค่ไปซื้อประกันเพื่อให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับความเสี่ยงแทน จากนั้นก็ยื่นขอกู้เงินจากธนาคารได้เต็ม 100% ของราคาบ้าน จากปกติที่จะกู้ได้เพียง 80% ของราคาประเมินเท่านั้น สวนสยามร่วมสร้างบ้านราคาถูกป้อนตลาด ด้านเจ้าของสวนสนุกชื่อดัง สวนสยาม ที่เปิดให้บริการกับประชาชนมาหลายยุคหลายสมัย ก็เป็นผู้ประกอบการอีกรายหนึ่งที่ได้หยิบเอาแปลงที่ดินที่เก็บสะสมไว้นานมาพัฒนาเป็นบ้านราคาถูก เพื่อรองรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานกรรมการ บริษัทอมรพันธ์นคร-สวนสยาม จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เปิดตัวโครงการใหม่ อมรพันธ์ เลียบวารี ย่านหนองจอก บนเนื้อที่ 33 ไร่ พัฒนาเป็นบ้านเดี่ยว 1 ชั้นและ 2 ชั้น ขนาด 21-25 ตร.ว.จำนวน 320 ยูนิต ขายราคา 7.99-9.99 แสนบาท รวมมูลค่า 300 ล้านบาท และคาดว่าใช้เวลาในการพัฒนาและขาย 2 ปี โดยในช่วงเปิดตัวโครงการได้จัดแคมเปญ 100 ยูนิตแรก แถมรถจักรยานอเนกประสงค์ 1 คัน และลูกค้าที่จองซื้อบ้าน 20 ยูนิตแรก สามารถเลือกรับโปรโมชั่นเงินสด 5 หมื่นบาท หรือเฟอร์นิเจอร์พร้อมอยู่ทั้งหลัง.
|