โบรกเกอร์ตีปีก มาตรการรัฐติดสปริงยอดขายบ้านมือสองให้ตลาดโตพรวดรวดเดียว 2 ปีรวด ตั้งแต่ ปี"49 ยันปี "50 ฉุดมูลค่าการซื้อขายทะยานกว่าแสนล้าน ไล่ตามตลาดบ้าน-คอนโดฯมือหนึ่งติดๆ แม้ปีนี้คนซื้อคนขายชะลอการตัดสินใจ 2 เดือนเต็ม ผลจากรัฐออกมาตรการล่าช้า ล่าสุด ได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์สมใจ มีผลตั้งแต่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมเบ็ดเสร็จทุ่นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 8-9% นายวิศิษฏ์ คุณาธรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรียลตี้ เวิลด์ อัลไลแอนซ์ จำกัด เปิดเผยว่า จากที่มาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การลดค่าจดจำนอง และการยกเว้นอากรแสตมป์ในการซื้อขายบ้านมือสอง มีผลบังคับใช้ ปีนี้แม้ผลกระทบในด้านบวกจากมาตรการดังกล่าวจะยังไม่เห็นชัดเจน เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือนก็จะสิ้นปี แต่ปีหน้าคาดว่าจะส่งผลด้านบวกทำให้ตลาดบ้านมือสองเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ ในจำนวนยอดการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั้งตลาดในปัจจุบันซึ่งอยู่ในระดับประมาณ 100,000 ยูนิต/ปี และเป็นการซื้อขายบ้านใหม่ประมาณ 60,000 ยูนิตนั้น ที่เหลืออีก 40,000 ยูนิตหรือมากกว่านั้นเป็นบ้านและคอนโดฯ ที่ซื้อขายกันในตลาดบ้านมือสอง ซึ่งหากตีมูลค่าเฉลี่ย/ยูนิตประมาณ 2.5 ล้านบาท แต่ละปีก็จะมีเงินหมุนเวียนในตลาดบ้านมือสองร่วม 100,000 ล้านบาท หากในปีหน้าจนถึงสิ้นปี 2550 ตลาดนี้เติบโตขึ้นอีกอย่างน้อย 15-20% จากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ ก็จะทำให้มูลค่าการซื้อขายในตลาดบ้านมือสองเพิ่มขึ้นอีกมาก ยอมรับว่าปีนี้ผลกระทบในด้านบวกจากมาตรการของภาครัฐยังมองไม่เห็นชัดเจน เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะสิ้นปี นอกจากนี้ก่อนหน้านี้การซื้อขายบ้านมือสองชะลอตัวลงถึง 2 เดือนเต็ม เพราะลูกค้าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องการชะลอซื้อขายเพื่อรอมาตรการรัฐ ทำให้ตัวเลขยอดการซื้อขายบ้านมือสองในช่วงกลางเดือนกันยายนจนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการออกมาและมีผลบังคับใช้ จากนี้ไปการซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดบ้านมือสองก็จะมีมากขึ้น "ในส่วนของเรียลตี้ เวิล์ดฯ 2 เดือนที่ผ่านมาก็ประสบปัญหาลูกค้าชะลอซื้อขายเช่นเดียวกัน จึงคาดว่าปีนี้ยอดขายบ้านและคอนโดฯมือสองรวมๆ น่าจะอยู่ในระดับประมาณทรงๆ ตัวเท่ากับปี 2547 ที่ผ่านมา ที่มียอดขาย 2,400 ล้าน โดยขณะนี้ทำยอดได้แล้ว 2,000 ล้านบาท ส่วนปีหน้าแนวโน้มตลาดบ้านมือสองน่าจะสดใส" นายสมศักดิ์ ชุติศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.ซี.พี.เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด คาดว่าตลาดบ้านมือสองจะคึกคักขึ้นเรื่อยๆ จากนี้ไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อและผู้ขายบ้านมือสองได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าที่ขายบ้านมือสองแล้วไปซื้อบ้านใหม่ นอกจากจะได้รับประโยชน์จากมาตรการที่ออกมาใหม่แล้ว ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมจากมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาก่อนหน้านี้และยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาอีกด้วย "ผมเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายในตลาดบ้านมือสองในตลาดได้มาก เพราะสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่จะได้รับ อาทิ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมโอน ค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ และภาษีรายได้หัก ณ ที่จ่าย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 8-9% ทีเดียว ทำให้ผู้ซื้อมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเพราะค่าใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่ผู้ขายก็สามารถที่จะตั้งราคาขายบ้านให้ต่ำลงกว่าเดิมได้จากที่ค่าใช้จ่ายลดลง" นายสมศักดิ์กล่าว ขณะที่นายแพทย์สมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ให้ความเห็นว่า มาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการซื้อขายบ้านมือสองระดับราคาปานกลางและราคาต่ำอย่างมาก เนื่องจากตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ลดลงทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้ขายมีความหมาย แต่หากเป็นการซื้อขายบ้านมือสองที่มีมูลค่าสูง ภาษีและค่าธรรมเนียมที่ลดลงไม่น่าจะมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายมากนัก แต่โดยรวมแล้วมาตรการนี้ส่งผลดีและทำให้การซื้อขายบ้านมือสองมีมากขึ้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียม และค่าจดจำนอง ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 แล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ออกพระราชกฤษฎีกาตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 444) พ.ศ.2548 ยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการซื้อขายอสังหา ริมทรัพย์ที่ผู้ขายใช้เป็นที่อยู่อาศัยบางกรณี คือ ก.บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ข.อสังหาฯ ตามข้อ ก. พร้อมที่ดิน ค.ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2548 เฉพาะกรณีทำสัญญาซื้อขายอสังหาฯซึ่งผู้โอนได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาฯนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยการได้รับยกเว้นดังกล่าวต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลา 1 ปีก่อนหรือนับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาฯ ผู้ขายได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาฯแห่งใหม่ ตามข้อ ก. ข. และ ค. เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับค่าอากรแสตมป์ที่คำนวณได้จากจำนวนมูลค่าอสังหาฯดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาฯแห่งใหม่
|