ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ร่วมกับฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รายงานผลการสำรวจวิเคราะห์การเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2539-2548) มีจำนวนที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในเขต กทม.และปริมณฑลถึง 722,773 หน่วย (เฉลี่ยปีละกว่า 7 หมื่นหน่วย) ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณที่สูง ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการขยายตัวของจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจะมีลักษณะที่เป็นวงจรเฟื่องฟูและตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ บทความนี้จึงมุ่งที่จะวิเคราะห์การเพิ่มของที่อยู่อาศัยในเขต กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านจำนวนประเภทอาคาร รูปแบบการจัดสร้าง เขตพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เห็นถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงของอุปทานที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวางแผน การลงทุนการพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการ และการบริหารชุมชนที่อยู่อาศัยของส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มปีละ 7.2 หมื่นหน่วย ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2539-2548) มีจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขต กทม.และ 5 จังหวัด ปริมณฑลรวมทั้งสิ้นประมาณ 722,773 หน่วย (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 72,277 หน่วย) การเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขต กทม.และ ปริมณฑลมีลักษณะขึ้นลงเป็นวงจรเฟื่องฟูและตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2539 มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จสูงถึง 176,616 หน่วย และหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2540 เป็นต้นมา จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 148,631 หน่วย ในปี 2540 เหลือ 67,054 หน่วย ในปี 2541 และ 29,029 หน่วย ในปี 2542 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา จำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จเริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจาก 56,085 หน่วย ในปี 2546 เป็น 69,050 หน่วย ในปี 2547 และในปี 2548 มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จ 72,072 หน่วย
จัดสรร-คอนโดฯ แชร์ส่วนแบ่งตลาด 70% การปลูกสร้างที่อยู่อาศัยแยกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประชาชนสร้างเอง สร้างโดยผู้ประกอบการ ในลักษณะของหมู่บ้านจัดสรร และอาคารชุด ในช่วงปี 2539-2548 จำนวนที่อยู่อาศัยที่เป็นหมู่บ้านจัดสรรมีสัดส่วนร้อยละ 40.6 (293,355 หน่วย) ในขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดมีสัดส่วนร้อยละ 30 (216,631 หน่วย) ซึ่งเมื่อรวมประเภทการปลูกสร้างโดยผู้ประกอบการทั้ง 2 ประเภท มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 509,986 หน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของผู้ประกอบการในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างเด่นชัด บ้านเดี่ยวบูมหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2539-2548 ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวสร้างเสร็จมากที่สุด 325,261 หน่วย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45 รองลงมาได้แก่ อาคารชุด 216,631 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 30 ทาวน์เฮาส์และอาคารพาณิชย์ 175,094 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 24.2 หากพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนประเภทที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จใน กทม.และปริมณฑลในช่วงปี 2539-2548 จะเห็นได้ว่าหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ปี 2541 เป็นต้นมา โครงสร้างของตลาดที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลง โดยการสร้างบ้านเดี่ยวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด "หนองจอก-บางกรวย" แชมป์บ้านสร้างใหม่ ในปี 2549 มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขต กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑลจำนวน 72,072 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขต กทม. (50 เขต) 37,435 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.9 โดยเขตที่มีการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เขตหนองจอก 2,443 หน่วย รองลงมาได้แก่ เขตบางกะปิ 2,086 หน่วย เขตประเวศ 1,933 หน่วย เขตบางขุนเทียน 1,899 หน่วย และเขตลาดพร้าว 1,656 หน่วย ส่วนใน 5 จังหวัดปริมณฑลมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจำนวน 34,637 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.1 โดยเทศบาล/อำเภอที่มีการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี 3,938 หน่วย รองลงมาได้แก่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี จำนวน 3,437 หน่วย อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 2,903 หน่วย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 1,967 หน่วย และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 1,937 หน่วย ตลาดบ้านเฟื่องฟู-ตกต่ำตามภาวะ ศก. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2539-2548) การเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขต กทม.และ 5 จังหวัดปริมณฑลมีจำนวนทั้งสิ้น 722,773 หน่วย โดยการเพิ่มขึ้นแต่ละปีมีลักษณะผันผวนเป็นวัฏจักรขึ้นลง และได้รับผลกระทบตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเป็นหมู่บ้านจัดสรรจำนวน 293,355 หน่วย และอาคารชุดจำนวน 216,631 หน่วย ซึ่งที่อยู่อาศัยเหล่านี้จำเป็นต้องมีการบริหารชุมชนที่มีประสิทธิภาพ มีการดูแลทรัพย์ส่วนกลางและสิ่งแวดล้อมในโครงการที่ดี เพื่อความสุขสบายของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มในการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรมากขึ้น โดยอาศัยนักบริหารชุมชนมืออาชีพเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น
|