แม้งานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-30 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา จะปิดฉากไปแล้วอย่างสวยงาม แต่ความชื่นมื่นของบรรดาดีเวลอปเปอร์ที่ร่วมออกบูทยังคงมีความรู้สึกดีๆ ที่รับรู้ถึงกันได้ เพราะยอดขายแต่ละโครงการไม่มีใครน้อยหน้าใครเลย โดยเฉพาะทำเลยอดฮิตติดชาร์ตอย่างโซนตะวันออก ขายดีอย่างถล่มทลาย "ใครบอกเศรษฐกิจไม่ดี บ้านขายไม่ออก บ้านขายไม่ได้ ป้าไม่เชื่อหรอก" สิริลักษณ์ โกวิทจินดาชัย ซีอีโอ กลุ่มปริญสิริ เอ่ยปากย้ำกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพื่อสะท้อนให้เห็นบรรยากาศว่า "บ้านทั่วไปยังขายดีอยู่" ท่ามกลางเศรษฐกิจผันผวน หากมองลึกลงไป จะพบว่าพฤติกรรมในการเลือกซื้อบ้านของผู้บริโภคในปีนี้ จะเน้นเลือกซื้อที่อยู่อาศัย "ยูนิตเล็ก" มากกว่า "ยูนิตใหญ่" มิน่า ! หลายบริษัทแบรนด์เนมโนเนมแห่เข็นโครงการทาวน์เฮาส์ออกมาขายแข่งเป็นว่าเล่น ส่วนคนซื้อก็เป็นกลุ่ม "คนรุ่นใหม่" มากขึ้น ส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางและเป็นพนักงานบริษัทใหญ่เล็กต่างกันไป แต่กลุ่มนี้เป็นกำลังซื้อจริงและเป็นกำลังซื้อที่มีวอลุ่มมากที่สุด นั่นคือ สัดส่วนการซื้อมีมากกว่ากลุ่มอื่นๆ พูดง่ายๆ คนทำงานบริษัท หรือมีกิจการเล็กๆ ของตัวเอง ต่างเสาะแสวงหา "บ้านใหม่" อยู่ทุกวัน ในงานมหกรรมบ้านฯเราจะเห็น "กำลังซื้อ" เหล่านี้เดินผ่านสวนไป-มาอย่างคุ้นหน้าคุ้นตา ไม่ใช่แค่มาเซอร์เวย์ แต่พวกเขาต้องการมาเลือกซื้อสินค้าและเปรียบเทียบสินค้าทั้งราคาและคุณภาพไปในตัว ถ้าพวกเขาชอบหรือโดนใจจริงๆ ก็จะมีการนัดแนะลงพื้นที่เข้าไซต์ไปดูบ้านตัวอย่างกันเลย โดยเฉพาะระดับราคาบ้านนั้น เท่าที่ "ประชา ชาติธุรกิจ" สอบถามความต้องการจากผู้คิดจะซื้อและเซลส์หน้าบูทแล้ว ต่างมีข้อมูลตรงกันว่า กลุ่มมนุษย์เงินเดือนจะเล็งซื้อบ้านในระดับราคา 2-3 ล้านบาท เสียส่วนใหญ่ หากเป็นคอนโดมิเนียม ขนาดพื้นที่แบบสตูดิโอและขนาด 1 ห้องนอน รวมถึงทาวน์เฮาส์ที่ปรับแบบให้โมเดิร์นหน่อย จะได้รับการตอบรับสูงสุด โดยเฉพาะทำเลรอยต่อใจกลางเมืองและโครงข่ายคมนาคมเข้าถึง จะซิวยอดขายไปได้มากชนิดเจ้าของโครงการเองก็คาดไม่ถึง เช่น กลุ่มพฤกษาฯ แอล.พี.เอ็น.ฯ ศุภาลัย ซื่อตรง นิรันดร์ฯ รุ่งพัฒน พร็อพเพอร์ตี้ฯ เป็นต้น ส่วนบ้านราคา 4-5 ล้านบาทอัพก็พอขายได้ แต่ปริมาณการซื้อขายอาจไม่ชุกชุมเท่าบ้านขนาดเล็ก แสดงว่า คนยังมีเงินอยู่และคิดใช้จ่ายอย่างรอบ คอบมากขึ้น เพราะลูกค้าซื้อบ้านกลุ่มนี้จะมาทวงถาม "ออปชั่น" งานมหกรรมฯ ว่ามีอะไรพิเศษ เจ้าของโครงการก็ต้องฟูลออปชั่นกลับไป ทั้งลด แลก แจก และแถม ส่วนใหญ่เป็นงานตกแต่งและแถมเครื่องใช้ไฟฟ้า เมื่อมาเช็กข้อมูลทำเลที่มาแรงสุดในปีนี้ ทุกคนต้องเซอร์ไพรส์ เพราะโซนตะวันออกย่านใกล้แหล่งงานใหม่สนามบินสุวรรณภูมิมาเหนือเมฆ ยอดการจองมากกว่าโซนเหนือหลุดลุ่ย ถือเป็นการ "ล้มแชมป์" ด้านทำเลเป็นครั้งแรกในปีนี้ "พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรไพลิน จำกัด และเจ้าของศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยต์ สยามสแควร์ ในฐานะประธานจัด งานมหกรรมฯ บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดงานตลอด 4 วันได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคสูงมาก ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยยังเป็นธุรกิจที่ไปได้ดี เพราะบ้านเป็นปัจจัยสี่ที่สำคัญในชีวิตมนุษย์ที่ขาดไม่ได้ "เพศทางเลือก" มาแรง นอกจากกลุ่มลูกค้าปกติที่มาเลือกซื้อบ้านใหม่ภายในงานแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นตลาดเพศที่สามก็เป็นผู้บริโภคอีกกลุ่มที่มาแรง เฉพาะงานวันแรกของการจัดงานก็มีหลายคู่ที่เดินควงกันมา ไม่ว่าจะเป็นหญิงกับหญิง ชายกับชาย ส่วนใหญ่ต้องการที่อยู่อาศัยขนาดย่อม ราคาไม่แพง ทำเลติดรถไฟฟ้าจำนวนมาก โดยที่อยู่อาศัยที่ขายดีสำหรับกำลังซื้อกลุ่มนี้หนีไม่พ้นห้องชุดและทาวน์เฮาส์ราคาไม่แพง และต้องเป็นสินค้าที่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น (unique) อาจกล่าวได้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของสังคมไทยที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะเป็นกำลังซื้อค่อนข้างสูงและมีรสนิยมในการเลือกซื้อบ้าน "ลูกค้าที่แวะบูทปีนี้จะเป็นลูกค้ากลุ่มเพศเดียวกันที่ควงคู่มาเลือกซื้อหาบ้านใหม่ ซึ่งไม่ได้มีมากนัก แต่ระยะหลังมีมาบ่อยเหมือนกัน ทางเซลส์ก็พยายามให้กรอกสอบถามข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูล" พนักงานขายรายหนึ่งที่ออกบูทงาน มหกรรมฯบอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" "พรนริศ" ให้ความเห็นว่า ลูกค้ากลุ่มเพศทางเลือกกำลังมาแรงในทุกๆ สินค้า แต่ไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดจัดทำเป็นฐานข้อมูลอ้างอิง แม้แต่งาน มหกรรมฯก็ระบุคำถามเพียงกว้างๆ เท่านั้น ส่วน ข้อมูลเชิงลึกเรารับรู้กันในทางพฤตินัยเท่านั้น ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคลและไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มลูกค้าตลาดเพศทางเลือกจะยังไม่ชัดในด้านสถิติข้อมูลที่แวะเวียนเข้ามาชมงาน หรือตัดสินใจซื้อบ้านภายในงานนี้ แต่ในข้อเท็จจริง ยอดซื้อขายบ้านส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มลูกค้าเหล่านี้และเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อจริง จนบรรดาดีเวลอปเปอร์จะมองข้ามไม่ได้ จุฬาฯลงลึกข้อมูล "อยู่กับเพื่อน" "รศ.ดร.บัณฑิต จุลาสัย" อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันยังไม่มีสถาบันใดลงลึกข้อมูลสำรวจตลาดอย่างจริงจัง ในประเด็นกำลังซื้อของตลาดเพศทางเลือก แต่ทุกคนในวงการพร็อพเพอร์ตี้รับรู้มาตลอดว่ามีจริง และจากประสบการณ์การทำวิจัยและสำรวจพฤติกรรมคนคิดจะซื้อบ้านและซื้อบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าครอบครัวเก่า ครอบครัวใหม่ และกลุ่มคนโสด ซึ่งประเด็นหลังจะมีมากขึ้นในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง ล่าสุดในการจัดทำแบบสอบถามเชิงสำรวจพฤติกรรมผู้ซื้อบ้านใหม่ สถาบันจะตั้งคำถามว่า ซื้อบ้านประเภทใด งบประมาณเท่าไหร่ ทำเลไหน และอยู่อาศัยกับใคร ซึ่งเปอร์เซ็นต์การตอบจะบอกว่า อยู่กับครอบครัว 84.9% ...แต่ที่ทึ่ง คือมีคำตอบที่ลึกลงไปคืออยู่กับเพื่อน 2.0% และอยู่คนเดียว 13.1% ในส่วนนี้ตนยังไม่กล้าเข้าไปเชื่อมโยงข้อมูลแต่ก็สะท้อนอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ว่าความสัมพันธ์ของเพื่อนกำลังพัฒนาเป็นตลาดใหม่ที่มาเพิ่มแชร์ยอดซื้อขายบ้านในตลาดรึเปล่า ? เซียนชี้กำลังซื้อแฝง "นพร สุนทรจิตต์เจริญ" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่วงการจัดสรรที่มีฐานข้อมูลลูกค้าผู้ซื้อบ้านมากที่สุด กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นข้อมูลและเป็นมุมมองใหม่ของวงการอสังหา ริมทรัพย์ไทย หากมีข้อมูลที่ชี้ชัดจริงๆ ก็น่าจะสะท้อนอะไรได้บางอย่าง และคงตอบคำถามอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลในเชิงลึก ว่าเป็นกลุ่มลูกค้าประเภทใด และต้องการสินค้าในรูปแบบใด แต่ส่วนตัวยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปสำหรับสังคมไทยกับการเกิดขึ้นของตลาดเพศทางเลือก ขณะที่ "ภูมิพัฒน์ สินาเจริญ" ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและการลงทุน บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มองว่า ในความเป็นจริงแล้วลูกค้ากลุ่มเพศทางเลือกเกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจนออกมา กำลังซื้อของคนกลุ่มนี้จะแฝงมากับลูกค้าปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อกลุ่มที่เป็นข่าวใหญ่นั้น ถือเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องหันมาเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง และพัฒนาโปรดักต์ไปในตัว แต่ในสายตาของดีเวลอปเปอร์มองลูกค้ากลุ่มนี้ว่า ...ไม่แตกต่างไปจากกลุ่มลูกค้าปกติ และจะออกแนวๆ ชอบแบบบ้านที่ดู "ทันสมัย" ไม่เชยเหมือนแต่ก่อน !!!
|