ปรากฏการณ์ใหม่ที่สร้างความคึกคักให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง สวนกระแสเศรษฐกิจที่ซึมยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2547 เมื่อมนุษย์เงินเดือนเบื่อรถติด หันไปแห่จองซื้อ "คอนโดมิเนียมกระดาษเปล่า" ของ 2 ค่ายยักษ์ "แอล.พี.เอ็น.ฯ" และ "ศุภาลัย" แบบมืดฟ้ามัวดิน ในการเปิดขาย 2 โครงการ 2 ทำเล โครงการ "ลุมพินี เพลส" นราธิวาส-เจ้าพระยา และโครงการ "ซิตี้ โฮม" ถนนรัชดาภิเษก ว่ากันว่าบรรยากาศแบบนี้คล้ายกับเมื่อปี 2543-2544 ช่วงนั้นสินค้าประเภทคอนโดฯอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนัก อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไปจำนวนมาก หากจะวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในรอบนี้ของทั้ง 2 ค่าย น่าจะมาจากปัจจัยหลัก คือ 1.การวางโพซิชันนิ่งของสินค้าได้ถูกจุด สามารถรองรับกำลังซื้อที่เป็นฐานขนาดใหญ่ทั้งตลาดได้ตรงจุด โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางมีเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 2 หมื่นบาท ต้องการใช้ชีวิตในเมืองที่เดินทางสะดวกสบาย 2.การเลือกปักธงโครงการในทำเลที่ตรงใจลูกค้าและอยู่ใกล้กับระบบคมนาคมที่เดินทางได้สะดวก และสุดท้าย การกำหนดขนาดห้องชุดที่ไม่ใหญ่จนเกินไปนัก อยู่ในระดับราคาที่คนรุ่นใหม่กล้าที่จะตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก "รู้สึกแปลกใจเหมือนกันที่เห็นคนมารอซื้อตั้งแต่ไก่โห่..." คำกล่าวของ "ทิฆัมพร เปล่งศรีสุข" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) "ทิฆัมพร" เป็นผู้บริหารที่ไม่ได้ทำงานเฉพาะแต่ในห้องแอร์ หากแต่ทุกครั้งที่บริษัทเปิดการขายโครงการใหม่ๆ วิธีปฏิบัติจนเป็นปกติของเขาคือยกทีมผู้บริหารไปสังเกตการณ์ทุกโครงการ ล่าสุดคือ โครงการลุมพินี เพลส นราธิวาส-เจ้าพระยา ราคาขายเฉลี่ยยูนิตละ 1.5 ล้านบาท หรือเฉลี่ยตารางเมตรละ 5 หมื่นบาท (เพราะติดแม่น้ำเจ้าพระยา) "เปิดจองวันแรกก็รู้สึกตกใจมาก มีลูกค้ามารอคิวกันตั้งแต่ตี 5 ดูเผินๆ จะคล้ายกับยุคบูมที่ตลาดบ้านขายดีมาก ทั้งๆ ที่ภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ไม่ค่อยจะดีนัก" "ทิฆัมพร" กล่าวด้วยว่า จุดหนึ่งที่สร้างความสำเร็จมาจากทำเลที่ตั้งโครงการที่อยู่ติดกับถนนพระรามที่ 3 และอีกฟากติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อส่วนหนึ่งต้องการห้องที่มองเห็นวิวของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสังเกตได้จากลูกค้าที่แห่มาจองคอนโดฯ ต่างต้องการห้องที่มองเห็นวิวแม่น้ำได้ชัดเจน "ที่ผ่านมานโยบายจะเน้นจับลูกค้าคนชั้นกลางมาตลอด จนมาถึงโครงการใหม่ ที่นี่ราคาขายก็อยู่ในเซ็กเมนต์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งลูกค้าตอบรับกันมามาก ก็ทำให้มั่นใจว่า แอล.พี.เอ็น.ฯเดินมาถูกทางแล้ว" ดีเวลอปเปอร์รายล่าสุดที่หันจับตลาดคอนโดฯในเซ็กเมนต์ลูกค้าระดับกลาง คือ "ศุภาลัย" ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ขึ้นคอนโดมิเนียมระดับกลาง-บนมาแล้วในหลายๆ ทำเล ราคาขายโดยเฉลี่ย ตร.ม.ละ 38,000 บาทขึ้นไป คราวนี้กลุ่มศุภาลัยเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ภายใต้ชื่อ "City Home" บนทำเลทองถนนรัชดาภิเษก ชูจุดขายโครงการตั้งอยู่ใจกลางเมือง อยู่ห่างจากรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯเพียง 600 เมตร หลังเปิดพรีเซล ปรากฏว่ามีประชาชนให้ความสนใจจองอย่างล้นหลามจนต้องเข้าแถวรับบัตรคิวเพื่อรอเรียกตามลำดับหมายเลขที่ได้ไป เป็นบรรยากาศการจองที่คึกคักอย่างมาก แม้จะเป็นโครงการแรกแต่ก็ได้รับการตอบรับอย่างคับคั่ง เพราะหลังเปิดพรีเซลไม่ถึงสัปดาห์ ขายได้แล้วเกือบ 100% มีจำนวนห้องเหลือขายเพียง 20 จากทั้งหมด 1,414 ยูนิต ขนาดของห้องส่วนใหญ่ในโครงการนี้กว่า 70% เป็นห้องสตูดิโอ ขนาด 30 ตารางเมตร เพื่อรองรับกำลังซื้อของคนรุ่นใหม่วัยทำงานที่ใช้ชีวิตในเมืองเป็นหลัก "ผมว่าเราจับตลาดได้ถูกและขายราคาไม่แพงมาก เริ่มต้นที่ 9 แสนกว่าบาท ผ่อนแค่เดือนละ 4,900 บาท ถือว่าไม่แพงเมื่อเทียบกับโครงการอื่นในย่านนี้ที่มีราคาแพงกว่ามาก" ข้อมูลของแถมจากศุภาลัยคือ ซิตี้โฮมเป็นโครงการแรกที่บริษัทชิมลางตลาดลูกค้าในเซ็กเมนต์ระดับกลาง กำลังซื้อบ้านในราคา 1 ล้านบาทต้นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานใหญ่ที่สุดในตลาดขณะนี้ "ผมมองว่าที่เรามาเล่นตลาดนี้ไม่ถือว่าเป็นการขยายโอกาสและขยายฐานลูกค้ามากกว่าที่จะไปมองว่าตลาดไม่ดีจนต้องมาทำแข่งกับใคร" เสียงของ "อธิป พีชานนท์" กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวทิ้งท้าย
|