ถกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาฯได้ข้อยุติ คณะทำงาน รมว.คลังฟันธงต้องกระตุ้นตลาดทั้งระบบ เร่งสรุปข้อเสนอให้ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ชี้ขาด เผยมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะยาว ทั้งลด-ยกเว้นค่าธรรมเนียมโอน ภาษี และค่าอากรแสตมป์ แถมหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้ เน้นเป้าหมายกลุ่มผู้มีรายได้น้อย คนซื้อบ้านหลังแรก และผู้ขายบ้านเก่าซื้อบ้านใหญ่ สั่งทำประวัติบ้านมือสองเพิ่มความมั่นใจลูกค้า ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา นายวีระชัย วีระเมธีกุล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะทำงานในการศึกษาหามาตรการในการสนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัย สำหรับผู้มีรายได้น้อยและมาตรการในการพัฒนาตลาดบ้านมือสอง ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมที่ดิน และผู้ประกอบการภาคอสังหาริม ทรัพย์ มาร่วมหารือเพื่อจัดทำกรอบมาตรการใน การสนับสนุนธุรกิจอสังหาฯและตลาดบ้านมือสอง ที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) หลังการประชุมนายวีระชัยเปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบนโยบายจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ศึกษามาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริม ทรัพย์โดยรวม และติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ ล่าสุดได้ข้อสรุปว่า มาตรการดังกล่าวนี้จะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วยมาตรการทางด้านค่าธรรมเนียมและภาษีอากร เช่น การยกเว้นหรือลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากการโอนซื้อ-ขายบ้านเก่า เพื่อซื้อบ้านใหม่, ค่าธรรมเนียมการโอน และค่าอากรแสตมป์ และมาตรการทางด้านการเงิน ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำมาให้ ธอส.ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และการนำที่ดินราชพัสดุมา สนับสนุนการสร้างบ้านให้กับคนจน โดยมาตรการทั้งหมดจะสรุปและนำเสนอให้นายสมคิดพิจารณาตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป "สำหรับขอบเขตของการศึกษาจะครอบคลุมไปถึงเรื่องบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง คือจะดูกันทั้งระบบ แต่มาตรการที่จะออกมานั้นจะเน้นไปที่ผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะมีครอบครัว และต้องการที่จะมีบ้านหลังแรก และผู้ที่มีบ้านอยู่แล้ว แต่ต้องการขายเพื่อที่จะไปซื้อบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่า หรือมีทำเลที่ดีกว่า เป็นต้น" นายวีระชัยกล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาวจะเป็นเรื่องของการพัฒนาระบบข้อมูลของศูนย์อสังหาริมทรัพย์ เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลของศูนย์ข้อมูลให้สามารถทราบประวัติความเป็นมาของบ้านมือสอง หรือสินทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน (เอ็นพีเอ) เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์อสังหาริมทรัพย์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ว่ามีความคืบหน้าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินนำข้อมูลจากศูนย์อสังหาริมทรัพย์ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากข้อมูลภาษีที่เก็บจากธุรกรรมของอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แม้จะจัดเก็บได้มากขึ้นแต่เป็น การขยายตัวในอัตราที่ลดลง คือช่วงปลายเดือนมกราคม 2548 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวถึง 70.6%, เดือนกุมภาพันธ์ขยายตัว 16.1% เดือนมีนาคมขยายตัว 16.7%, เดือนเมษายนขยายตัว 4.1% และล่าสุดเดือนพฤษภาคมขยายตัวจากช่วงเดียว กันของปีก่อน 6.9% ก่อนหน้านี้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสมคิดได้เรียกประชุมคณะทำงานเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ประกอบด้วย นายอนันต์ อัศวโภคิน กรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมธนารักษ์, นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธอส. และนายวิสิษฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่กระทรวงการคลังเพื่อติดตามผลการศึกษาการพัฒนาที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย รวมทั้งมาตรการในการสนับ สนุนตลาดบ้านมือสอง, มาตรการสนับสนุนให้คนมีครอบครัวใหม่ได้มีบ้าน และการผลักดันกฎหมายเอสโครแอ็กเคานต์ขึ้นมาดูแลผู้บริโภค พ.ร.บ. ตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินการของศูนย์มีความคืบหน้าไปมาก ล่าสุดได้รับข้อมูลรายละเอียดบ้านมือสองจากผู้ประกอบการเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 190,128 ยูนิต ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คิดเป็น 60% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะเปิดเว็บไซต์เพื่อนำ ระบบซื้อขายบ้านมือสองแบบออนไลน์ที่เรียกว่า multiple listing service หรือ MLS เป็นรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา และจะมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในเดือนธันวาคม 2548 นายสาธิต รังคสิริ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าธรรมเนียมโอน และค่าจดจำนองในการเปลี่ยนมือสำหรับบ้านมือสองว่า ปัจจุบันจะต้องจ่ายทั้งหมด 7% เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% ค่าจดจำนอง 1% ซึ่งจะต้องจ่ายอีกเมื่อมีการซื้อ-ขาย และค่าธรรมเนียมโอน 2% ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีมาตรการในการจัดแพ็กเกจด้านภาษีอยู่แล้ว เช่น ถ้าจะมีการลดหย่อนเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น จะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือไม่คิดค่าจดจำนองรอบสอง ส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ที่ผ่านมามีระเบียบปฏิบัติที่สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว โดยให้สิทธิเฉพาะกรณีการทำสัญญาซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น "แพ็กเกจภาษีบ้านมือสองต้องรอลุ้น คลังจะประกาศในวันที่ รมต.มาตรวจเยี่ยม ธอส.ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้" นายสาธรกล่าว ด้านนางลดาวัลย์ ธนะธนิต ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย กล่าวแสดงความเห็นว่า นอกจากผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยแล้ว ยังมีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยในรูปแบบนอมินี แล้วให้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการ จากข้อมูลที่ได้จากการปล่อยสินเชื่อโครงการ พบว่ามีมากถึง 50% ซึ่งถือว่าส่งผลกระทบและมีบทบาทต่อภาคธุรกิจนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาข้อมูลมาประกอบในการจัดร่าง พ.ร.บ.ตัวแทนฯด้วย |