มาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองคลอดแล้ว มหาดไทยสวมบทพระเอกออกประกาศกระทรวง 2 ฉบับรวด ลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนองบ้าน-ที่ดิน และห้องชุด มีผลตั้งแต่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่วนการยกเว้นอากรต้องรอต่อไปอีก เหตุจากกระทรวงการคลังยังไม่ออกระเบียบกฎหมายรองรับ นายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ ชี้ปลายปียอดซื้อขายบ้านมือสองกระฉูดแน่ หลังจากตั้งตารอมากว่า 2 เดือนในที่สุดผู้ประกอบการบ้านมือสอง สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ที่ต้องการจะซื้อบ้านมือสองก็สมหวัง เมื่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองในการซื้อขายบ้านมือสอง 2 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2548 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1 วัน สาระสำคัญของประกาศฉบับแรกระบุว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง และอนุมัติให้ลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์หรืออาคารชุด เหลือร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองอย่างทั่วถึงและเหมาะสมกับสถานะของผู้อาศัยด้วยการส่งเสริมตลาดบ้านมือสองให้มีสภาพคล่อง ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ 1 ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นบ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น หรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวพร้อมที่ดิน ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยผู้ขายคนใดคนหนึ่งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ไม่ว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม (2) การจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อมาตาม (1) ในวันเดียวกันเฉพาะจำนวนเงินจำนองที่ไม่เกินกว่าราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ส่วนจำนวนเงินจำนองที่เกินกว่าราคาซื้อขายให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2597 ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2540 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 ลงนามโดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยฯ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ส่วนประกาศฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญดังนี้ ข้อ 1 ให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองห้องชุดในอัตราร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) การขายห้องชุดที่เป็นที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยผู้ขายคนใดคนหนึ่งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดนั้น ไม่ว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม (2) การจดทะเบียนจำนองห้องชุดที่ซื้อมาตาม (1) ในวันเดียวกันเฉพาะจำนวนเงินจำนองที่ไม่เกินกว่าราคาซื้อขายห้องชุดนั้น ส่วนจำนวนเงินจำนองที่เกินกว่าราคาซื้อขายให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับอาคารชุดออกตามความในพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2550 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 โดยนายเสริมศักดิ์เป็น ผู้ลงนามเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองที่ออกมาทั้ง 2 ฉบับ เป็นงานที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ขณะที่มาตรการยกเว้นอากรแสตมป์ที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรดูแล ขณะนี้ยังไม่มีออกมาก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำมั่นว่ากระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการ พร้อมกับระบุว่าจะมีข่าวดีเพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อขายบ้านมือสอง โดยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมมาตรการเดิมที่ให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการขายที่อยู่อาศัยแห่งเก่าเพื่อซื้อแห่งใหม่ เฉพาะในส่วนที่ไม่เกินมูลค่าของบ้านหลังใหม่ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายที่อยู่อาศัยที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยมาตรการที่เพิ่มเติมคือ การให้ยกเว้นอากรแสตมป์ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอน และค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนอง นายสมศักดิ์ มุนีพีระกุล นายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ไม่ทราบเหตุผลและนึกไม่ถึงเช่นเดียวกันว่าเพราะเหตุใดมาตรการในส่วนของกระทรวงการคลังจึงไม่ออกมาพร้อมกับประกาศกระทรวงมหาดไทย และสมาคมอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้า สำหรับมาตรการลดค่าธรรมเนียมและค่าจดจำนองนั้นจะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้มาก และทำให้ยอดซื้อขายบ้านมือสองในช่วงจากนี้ไปจนถึงปลายปีมีมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ซื้อบางส่วนชะลอโอนรอมาตรการนี้ โดยเฉพาะการซื้อขายบ้านของรายย่อย เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ส่วนการซื้อขายบ้านและที่ดินที่มีมูลค่าสูงๆ คงไม่มีผล เพราะรายใหญ่คงไม่สนใจจะนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เป็นหลักในการประกาศตัดสินใจซื้อขาย นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโอนและลดค่าจดจำนองบ้านมือสองจะมีผลดีต่อตลาดบ้านโดยรวมทั้งหมด และปีหน้าก็ไม่น่าจะมีข้อสงสัยว่าธุรกิจอสังหาฯจะมีแนวโน้มดีหรือไม่ดี เพราะมาตรการดังกล่าวจะส่งผลดีต่อทั้งการขายและการซื้อบ้านมือสอง ซึ่งเมื่อตลาดบ้านมือสองไปได้ดี ก็จะเป็นผลบวกต่อตลาดบ้านใหม่หรือบ้านมือหนึ่ง รวมทั้งส่งผลดีต่อสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้สินเชื่อด้วย
|