แม้วันนี้อาชีพสถาปนิก จะยังไม่มีการเปิดข้อตกลงการค้าเสรี แบบทวิภาคี หรือเอฟทีเอ (FTA) อย่างเป็นทางการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการสถาปัตยกรรมไทย กำลังก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนเหมือนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่กลุ่มทุนต่างชาติสยายปีกมา พร้อมกับกำหนดสเปค ต้องมีสถาปนิกต่างประเทศร่วมงาน สัญญาที่ผูกพันต่อเนื่อง จากกลุ่มทุนต่างประเทศ ที่กำหนดรายละเอียดถึงงานออกแบบและผู้ออกแบบ ทำให้ปัจจุบัน สถาปนิกต่างชาติคืบคลานเข้ามารับงานออกแบบสถาปัตย์ บ้านเรามากขึ้นทุกขณะ ยุพา จงปติยัตต์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท วู้ดเบก็อท จำกัด ผู้ประกอบการด้านงานออกแบบ ซึ่งซื้อใบอนุญาตมาจากออสเตรเลีย เข้ามาดำเนินการในไทย 13 ปี เปิดเผยถึงภาวะการตลาดงานออกแบบอาคารในปัจจุบันว่า โดยรวมตลาดยังคงมีการแข่งขันกัน แต่ด้วยเหตุเพราะต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้น ทำให้การแข่งขันด้านการเสนองานในราคาที่ต่ำ หรือที่เรียกว่าดั๊มพ์ราคาค่าแบบไม่รุนแรงนัก เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งแข่งตัดราคากันสูง 50-60% อย่างไรก็ดี ในส่วนของวู้ดเบก็อท เนื่องจากอยู่ในเครือข่ายของบริษัทแม่ที่ประเทศออสเตรเลีย ยังคงได้รับสิทธิให้บริการกลุ่มทุนผู้ประกอบการ ที่เป็นเครือข่าย โดยบริษัทจะรับผิดชอบในภูมิภาคเอเชีย "จะมีกลุ่มทุนต่างชาติซึ่งเดิมอาจจะลงทุนที่ประเทศอื่น แต่เมื่อขยายการลงทุนมายังประเทศไทย และในภูมิภาคนี้ วู้ดเบก็อท ก็มีสิทธิเสนองาน" ยุพา กล่าวพร้อมยกตัวอย่างประกอบ เช่น กลุ่มโอควู้ด ที่มีคอนเนคชั่นกันมาร่วม 10 ปีนั้น ซึ่งหากจะไปลงทุนที่อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย ก็ยังคงใช้บริการของวู้ดเบก็อท ด้านรอยย์ จีนประชา สถาปนิกอาวุโสของวู้ดเบก็อท กล่าวเสริมว่า ในภาวะที่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ ที่มีทุนจากต่างประเทศล้วนมีเงื่อนไขว่าต้องใช้สถาปนิกจากต่างประเทศ ควบคู่กับสถาปนิกชาวไทย สถาปัตย์-ถัดไป (Future Thai Architects) การแข่งขันด้านอินเตอร์แบรนด์จะรุนแรงยิ่ง เนื่องจากตามนโยบายของรัฐบาลได้มีการเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งส่งผลให้ลดอุปสรรคต่อการค้า และทำให้ธุรกิจอื่นจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจภาคบริการซึ่งก็รวมถึงการบริการด้านวิชาชีพออกแบบที่มีแนวโน้มต้องเกิดการเปิดกว้างให้กับต่างประเทศ ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพสถาปนิกไทยเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อม จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดย ยุพา กล่าวว่า ปัจจุบันสถาปนิกไทย ค่อนข้างมีความโดดเด่นในอาเซียน ได้มีการส่งออกไปทำงานในต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันช่วงหลังวงการ สถาปนิกในสิงคโปร์ได้มาแรง "หากเราขืนอยู่นิ่งไม่มีการพัฒนา อาจโดนสิงคโปร์แซงได้" ยุพา กล่าวย้ำ พร้อมขยายความว่า ในส่วนของ วู้ดเบก็อท เองพยายามจะให้บริการอย่างครอบคลุม โดยล่าสุดได้ให้บริการด้วยการประกันงานออกแบบ หรือชดเชยค่าเสียหาย แบบมืออาชีพ (Professional indemnity) ขณะที่ ยอดขวัญ ศีตะจิตต์ สถาปนิก บริษัท แมฟส์ ดีไซต์ สตูดิโอ จำกัด ( MAPS DESIGN STUDIO) เปิดเผยว่าบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทออกแบบจากสิงคโปร์ ของนาย ตัน ฮก เบ็ง ที่เพิ่งเข้ามาเปิดธุรกิจและร่วมทุนกับกลุ่มคนไทยเมื่อปี 2547 เพื่อให้บริการลูกค้าทั้งที่เป็นผู้ประกอบการชาวไทยและต่างชาติ โดยล่าสุด ได้ออกแบบบ้านในโครงการ "เดอะ สตาร์ เอสเตท @ พัฒนาการ" บ้านสไตล์โมเดิร์น ทรอปิคอลที่มีการผสมผสานความทันสมัยแบบตะวันตก แต่แฝงด้วยกลิ่นอายของความเป็นตะวันออก ภายในบ้านนำเอาวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ น้ำ และหิน มาตกแต่งเพื่อให้เกิดความรู้สึกเรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ โครงการดังกล่าวเป็นของบริษัท อิสเทอร์น สตาร์ เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) เป็นการพัฒนาบนเนื้อที่ กว่า 23 ไร่ บ้านเดี่ยว 3 ชั้น จำนวน 57 ยูนิตราคาขายเริ่มต้น 16 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการ 1,150 ล้านบาท "ผมว่านับจากนี้ไป โครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ จะกำหนดสเปคสถาปนิกต่างชาติมากขึ้น " ยอดขวัญ กล่าวพร้อมกับให้ความเห็นถึงเหตุผลของแนวโน้มการใช้บริการงานออกแบบ ของกลุ่มทุนผู้ประกอบการอสังหาฯว่า หากเป็นกลุ่มทุนจากต่างชาตินั้น จะทำให้ง่ายต่อการดำเนินการหรือการติดต่อกัน เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกัน และเป็นเหตุผลในเชิงธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอสังหาฯอื่นๆ ที่ใช้สถาปนิกต่างชาติในการออกแบบ เช่น โครงการ "เดอะเม็ท" ในย่านสาทร โดยกลุ่มทุนสิงคโปร์ "โฮเต็ล พร็อพเพอร์ตี้ " ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ มีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เจ้าของโรงแรมชื่อดังฮาร์ดร็อค ค่าเฟ่ ในเมืองพัทยา, โรงแรมเมอร์ริเดียน ภูเก็ต, โรงแรมเมโทรโพลิแทน สาทร ฯล สนนราคาขายต่อตารางเมตรละ 110,000-120,000 บาท อาคารมีความสูง 66 ชั้น จำนวน 370 ยูนิต มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท มี บริษัท โวฮา (WOHA) จากสิงคโปร์ ออกแบบร่วมกับ บริษัท แทนเด็ม อาร์คิเทค จำกัด ของคนไทย โวฮา เป็นบริษัทออกแบบที่น่าจับตามอง ถึงการเข้ามารุกธุรกิจในประเทศไทย เพราะนอกจากนี้ เดอะเมท ยังมีโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนพระราม 3 ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมหรู ราคาขายต่อตารางเมตรเกือบ 1 แสนบาท ขนาดความสูง 54 ชั้น บนพื้นที่ 10 ไร่ จำนวน 400 ยูนิต มูลค่า 5,000 ล้านบาท ที่ดินที่เหลือมีแผนจะพัฒนาเป็นโรงแรมหรูระดับ 6 ดาว เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ และชอปปิงมอลล์ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ใช้ระยะเวลาในการพัฒนา 5-6 ปี โครงการนี้ เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัทกรุงเทพบ้านและที่ดิน เครือพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กับกับกลุ่ม บริษัท เซ็นเตอร์พอยท์ พร็อพเพอร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ ของประเทศสิงคโปร์ เจ้าของเครือข่ายธุรกิจเฟร์เชอร์ แอนด์ทีฟ จำกัด เจ้าของเบียร์ไทเกอร์ ไฮไนเก้นท์ และเครื่องดื่มซาร์สี่ ในชื่อบริษัทร่วมทุน "ริเวอร์ไซด์โฮม ดีเวลลอปเม้นท์" จำกัด ในสัดส่วนฝ่ายละ 49% มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นอกจากมีบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับต่างชาติ จะใช้บริการงานออกแบบสถาปนิกต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ต้องการสร้างความแตกต่างในแบบบ้านรายอื่นๆ หันมาใช้สถาปนิกต่างชาติเพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่นล่าสุด "วิจิตราธานี" ดึงสถาปนิกสิงคโปร์ ช่วยออกแบบบ้าน.. วิจิตราธานี โครงการจัดสรรย่านบางนา-ตราด ของบริษัท แพทโก้ แลนด์ จำกัด การนำสถาปนิกต่างชาติมาช่วยออกแบบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัจจุบันบ้านในระดับกลางมีการแข่งขันสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการหลายราย หันมาให้ความสนใจมากขึ้น และเพื่อสร้างความแตกต่างด้านการดีไซน์บ้านที่คุ้มค่า และเหมาะสมกับความต้องการของตลาด
|