ราชพฤกษ์ตัดใหม่ ถนนสาย "เรซิเดน เชียลโรด" ล่าสุดโซนกรุงเทพฯตะวันตก ระยะทาง 9 กิโลเมตรโดยประมาณ เส้นทางคมนาคมที่บรรจบถนนสายหลักสองเส้นระหว่างถนนรัตนาธิเบศร์กับสาย 345 คึกคักไปด้วยโครงการพัฒนาที่ดินทั้งเก่าและใหม่ ทั้งค่ายแบรนด์เนมในตลาดหุ้นกับบริษัทเจ้าถิ่น เดินทางจากถนนติวานนท์มุ่งหน้าบางบัวทอง เลี้ยวขวาเข้าถนนราชพฤกษ์ตัดใหม่ประมาณ 1 กิโลเมตร โครงการ "ลัดดารมย์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์" ปักหมุดอยู่ทางซ้ายมือ ทำเลแบบนี้ ตั้งอยู่ชานเมืองแต่สามารถเดินทางเข้าสาทรได้ใกล้นิดเดียวเพียง 20 นาที ด้วยโครงข่ายคมนาคมทั้งทางด่วนและถนนตัดใหม่ที่ทะลุยาวถึงถนน 345 (ปทุมธานี-รังสิต) เสน่ห์ของราชพฤกษ์ตัดใหม่ เมื่อตอนเปิดใช้วันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับความต้องการใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปรากฏว่าแฮปปี้กันถ้วนหน้าเพราะเป็นทางลัดออกสายเหนือ-สายตะวันตก เลนจราจร 6 เลนไปกลับสะดวกสบายไม่แออัด ล่าสุด กทม.ได้ออกข้อบังคับผังเมือง สาระสำคัญคุมระยะย่น 15 เมตรในการก่อสร้างอาคารจากริมถนน จึงเชื่อได้ว่าถนนเส้นนี้จะ "สวย" เอาการอยู่ ที่สำคัญบรรยากาศยังมีความเป็นท้องทุ่งอยู่มากคล้ายกับว่าความเจริญยังเอื้อมไม่ถึง ทั้งที่ตั้งอยู่ประชิดชายขอบกรุงเทพฯ-นนทบุรีแค่นี้เอง และนี่คือที่มาของการตีโจทย์ทำเลที่ตั้งโครงการเข้าสู่คอนเซ็ปต์การออกแบบเพื่อให้เป็น "บ้านฟังก์ชันรีสอร์ต" ขอขอบคุณ คุณกรี เดชชัย ผู้อำนวยการอาวุโส บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ ที่กรุณานำเยี่ยมชมโครงการด้วยตนเอง โครงการลัดดารมย์ ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ มาด้วยศักดิ์ศรีของโลโก้ "เจ้าตลาดบ้านหรู" ราคาขายต่อยูนิตจึงแพงสุดในถนนราชพฤกษ์ตัดใหม่ ณ ขณะนี้ ตกประมาณ 7-11 ล้านบาท/ยูนิต ว่ากันว่าปีนี้วงการพัฒนาที่ดินกังวลมากกับ "อารมณ์ซื้อ" ของผู้บริโภค เพราะถูกทำให้ขวัญกระเจิงมาตั้งแต่วิกฤตราคาน้ำมัน ดอกเบี้ยขาขึ้น ล่าสุดคือการรัฐประหารที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงการนี้จึง "ให้" มากกว่าทุกๆ โครงการของควอลิตี้เฮ้าส์ นั่นคือ บ้านทุกหลังที่นี่จะ "แถม" หลังเล็กให้อีกหนึ่งหลัง ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 7 ล้านบาท จะมี "เรือนรับรอง" เทียบเท่าบ้านราคา 15 ล้านบาทของควอลิตี้เฮ้าส์ เปรียบเทียบง่ายๆ โครงการลัดดารมย์เหมือนกัน แต่อยู่ต่างทำเล คือ ที่เอกมัย-รามอินทรา ขนาด 77 ตารางวา ราคา 9.9 ล้านบาท แต่ทำเลที่ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ขยายพื้นที่เป็น 85 ตารางวา กดราคาขายลงมาเริ่มต้นที่ 7 ล้านบาท เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจยุควิกฤตฟองสบู่เริ่มก่อตัวแบบนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น คนจะทำบ้านขายจึงต้อง "ใจป้ำ" กันหน่อยละ ตามปกติของควอลิตี้เฮ้าส์ บ้านทุกหลังจะ "สร้างเสร็จก่อนขาย" ในโครงการมีระบบดับเบิล ซีเคียวริตี้ ด่าน รปภ. 2 ชั้น มีระบบ magnetic shock sensor ติดตั้งในตัวบ้านทุกหลัง มีพับลิกโซนหรือโซนส่วนกลางที่เป็นสโมสร และที่พักรอของผู้มาเยี่ยมกรณีเจ้าของบ้านไม่ประสงค์ให้ไปพบที่บ้าน ฯลฯ มูลค่าโครงการนี้อยู่ราวๆ 1,100 ล้านบาท คุณกรีให้ข้อมูลว่า ในช่วงพรีเซลสามารถทำสถิติวันเดียวจอง 9 ยูนิต 90 ล้านบาท โดยลูกค้า 7 ใน 9 รายมีภูมิลำเนาในย่านใกล้เคียง อีก 2 ใน 9 เป็นลูกค้าต่างถิ่น อายุเฉลี่ย 40-45 ปี สถิติแบบนี้ตอกย้ำให้มั่นใจมากยิ่งขึ้นเพราะตอนประเมินกลุ่มเป้าหมายเพื่อทำโครงการนั้น ต้องการเจาะลูกค้าในพื้นที่ที่ต้องการเปลี่ยนบ้านในทำเลคุ้นเคย เนื่องจากโซนนี้ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านเก่าอายุ 10-15 ปี เรื่องฟังก์ชันการออกแบบไม่ต้องพูดถึง เพราะลัดดารมย์เป็นบ้าน "5 คุณภาพ" สไตล์ควอลิตี้เฮ้าส์อยู่แล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่ "ลูกค้า" เมื่อกลายเป็น "ลูกบ้าน" จะใช้สอยประโยชน์ในตัวบ้านอย่างไรมากกว่า จากที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ของแถมคือเรือนรับรองทุกหลังในโครงการนี้ ตั้งอยู่เคียงข้างกัน โดยมี deck หรือระเบียงไม้เป็นตัวเชื่อม ไม่เพียงแต่พ่อ-แม่-ลูกเท่านั้น แต่สามารถปรับพื้นที่ใช้สอยให้เป็นเรือนปู่-ย่า-ตา-ยาย ได้เลย เรียกว่าอยู่อาศัยได้ถึง 3 เจเนอเรชั่นสบายๆ ข้อมูลลึกแต่ไม่ลับ คือบ้านราคา 8-9 ล้านบาท ปรากฏว่าลูกค้าแย่งกันจอง และเป็นระดับราคาที่เป็นส่วนใหญ่ของโครงการ คือประมาณ 70-80% โดยวัสดุที่ให้คือประตูไม้สัก วงกบไม้แดง ซึ่งจะเป็น "โครงการสุดท้าย" แล้วที่จะได้วัสดุแบบนี้
|