|
จัดสรรปรับพอร์ตเพิ่มบ้านสั่งสร้าง เหตุถูกภาวะตลาดบีบ-คนซื้อบ้านขาดเงินออม |
นับจากภาวะราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค ประกอบกับปัจจัยลบที่รุมเล้าเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจเกิดภาวะขยายตัวในอัตราที่ลดลง ส่งผลให้ผู้บริโภคเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็ได้รับผลกระทบนั้นเช่นกัน ต้นทุนการก่อสร้างได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณไม่ต่ำกว่า 10% หลายโครงการขายช้ากว่ากำหนด ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านดอกเบี้ยเงินกู้ในการพัฒนาโครงการ อีกทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังมีทิศทางที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกเช่นกัน นายอธิป พีชานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) และนายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า กระแสบ้านสร้างเสร็จก่อนขายเริ่มจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภค ประกอบกับการพัฒนาบ้านสร้างเสร็จยังช่วยลดต้นทุนในการสั่งซื้อวัสดุก่อสร้าง ลดระยะเวลาก่อสร้าง ง่ายต่อการบริหารจัดการ ส่วนข้อเสียในด้านของผู้ประกอบการ คือ หากสร้างขึ้นมาแล้วต้องขายให้หมดโดยเร็ว บ้านสร้างเสร็จจะเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ไม่ควรค้างสต๊อกเกิน 6 เดือน เพราะจะมีข้อยุ่งยากในการดูแลรักษามีค่าใช้จ่ายตามมา นอกจากนี้หากค้างสต๊อกนานก็จะเป็นต้นทุนทางการเงิน นอกจากนี้บ้านสร้างเสร็จยังมีข้อเสีย ในส่วนของผู้บริโภคคือ ไม่สามารถเลือกรูปแบบที่ตัวเองชอบได้ เพราะสร้างไปก่อนล่วงหน้าแล้ว รวมถึงจะต้องโอนบ้านทันทีที่ตัดสินใจซื้อ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องมีเงินออมจำนวนมากพอจึงจะซื้อบ้านได้ สำหรับในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อัตราการขายชะลอตัวตาม ทำให้สต๊อกบ้านที่ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาออกมาในช่วงก่อนหน้าเริ่มเป็นภาระต้นทุน ซึ่งจะต้องเร่งระบายออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังต้องลด สต๊อกลง ด้วยการหันไปพัฒนาบ้านสั่งสร้างมากขึ้น นอกจากนี้บ้านสร้างเสร็จต้องใช้เงินลงทุนมาก ธนาคารพาณิชย์เริ่มระมัดระวังในการสนับสนุนสินเชื่อ เนื่องจากกังวลถึงความเสี่ยงกรณีการขายไม่ได้ หรือใช้เวลาขายที่ยาวขึ้น "มันเป็นไปตามภาวะและกลไกของตลาด เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวตาม บ้านสร้างเสร็จก่อนขายใช้เงินลงทุนสูง ถ้าทำออกมาแล้วเศรษฐกิจผันแปร ขายไม่หมดเงินก็จมขาดสภาพคล่อง แบงก์ก็ตะหนักถึงความเสี่ยงในเรื่องนี้ไม่กล้าปล่อยกู้ เกิดปัญหาตามมาอีก" นายอธิปกล่าว นายอธิป กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทศุภาลัย ได้เริ่มปรับแผนการพัฒนาบ้านสั่งสร้างมากขึ้น จากเดิมที่พัฒนาบ้านสร้างเสร็จก่อนขายจำนวน 70% ของยอดขายรวม และจะปรับให้อยู่ในระดับ 50 : 50 ในอนาคตอันใกล้ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งบ้านสั่งสร้างเองก็มีข้อดีหลายประการในด้านการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ลูกค้าสามารถได้บ้านตรงความต้องการมากขึ้น ไปปรับเปลี่ยนรูปแบบตามที่ตัวเองชอบ แต่ก็มีข้อเสียในด้านการบริหารจัดการที่ยากขึ้น ความไม่แน่นอนของระยะเวลาการก่อสร้าง ทั้งนี้ การพัฒนาที่ผ่านมาผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวลดขนาดหรือลดสเปคราคาของสินค้าลง เพื่อให้สามารถพัฒนาได้ในต้นทุนที่ถูกลง แต่ก็ยังคงคุณภาพเอาไว้เช่นเดิม โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายหันมาใช้วัสดุที่ผลิตจากประเทศจีนมากขึ้น เพราะมีราคาถูก ต้นทุนการขนส่งต่ำกว่านำเข้าจากประเทศอื่น ซึ่งสินค้าจากจีนมีทั้งที่มีคุณภาพสูงและต่ำ " การพัฒนาบ้านสร้างเสร็จและบ้านสั่งสร้างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกันออกไป การเลือกที่จะพัฒนาอะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ภาวะตลาดในขณะนั้นๆ ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพอสามารถทำได้ทั้งนั้น ทำอะไรก็ได้ที่ขายได้แล้วแต่ลูกค้าจะต้องการแบบไหน" นายอธิปกล่าว ด้านนายอภิสิทธิ งามอัจฉริยะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อเสียของบ้านสั่งสร้างคือ ทำให้รับรู้รายได้ช้ากว่าบ้านสร้างเสร็จก่อนขายประมาณ 5-6 เดือน หรือมากกว่านั้น แต่ก็มีข้อดีตรงที่ลูกค้ามีโอกาสได้เลือกในสิ่งที่ตัวเองต้องการ และยิ่งในตลาดระดับบนลูกค้ายิ่งมีความต้องการที่แตกต่างกันมากขึ้น การพัฒนาตามความต้องการของลูกค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาบ้านสั่งสร้าง อาจทำให้ตรงความต้องการของลูกค้า แต่ก็ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นในระดับหนึ่งด้วย สำหรับเค.ซี.สร้างบ้านไปก่อนล่วงหน้าประมาณ 60-70% ส่วนที่เหลืออีก 30-40% นั้น เพื่อให้ลูกค้าได้เลือกหรือเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เพราะลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นลูกค้าระดับใดก็ตาม ปัจจุบันบริษัทพัฒนาสินค้าในระบบดังกล่าวประมาณ 95% ของพอร์ตสินค้าทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นทาวน์เฮาส์ที่ต้องพัฒนาเป็นรายบล็อกอยู่แล้ว นอกจากนี้ทาวน์เฮาส์มีราคาถูก ไม่สามารถพัฒนาแบบสั่งสร้างได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้ควบคุมต้นทุนได้ลำบาก ที่ผ่านมากลุ่มบริษัทที่เริ่มปรับสัดส่วนการพัฒนาบ้านสั่งสร้าง อาทิ บริษัท ลลิล จำกัด (มหาชน)ที่ได้ปรับสัดส่วนบ้านสั่งสร้างขึ้นอีกประมาณ 10-15% โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นการบริหารกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน อย่างไรก็ตามการพัฒนา บ้านสร้างเสร็จก่อนขาย หรือบ้านสั่งสร้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ เท่านั้น ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจผันผวน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยวิธีการที่ดีที่สุด คือ การพัฒนาที่ดินแปลงเล็กๆ ในทำเลที่มีศักยภาพ เพื่อให้สามารถเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภคและสร้างยอดขายได้เร็วขึ้น |
|
บ้านมือสอง คอนโด condo บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว บ้านเช่า ที่ดิน
วันที่ : 16 สิงหาคม 2548
จำนวนผู้อ่าน : 3790 ครั้ง
เรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ
|
|
|
ขายบ้าน, คอนโด มือสอง, บริษัทนายหน้า, โบรกเกอร์, รับฝากขายบ้าน, ขายบ้าน, realtor, agency, บริษัท ขายบ้าน, ตัวแทน นายหน้า, รับฝากขาย, ซื้อขายบ้าน, ฝากขายบ้าน
นายหน้า ขายบ้าน, บ.นายหน้า ขายบ้าน, โบรกเกอร์, ซื้อขายบ้าน, รับฝากขายบ้าน, ตัวแทนนายหน้า, โบรกเกอร์บ้าน, นายหน้าบ้าน, ตัวแทนบ้าน ขายบ้าน ตกแต่งบ้าน ฟอร์นิเจอร์ ออกแบบ บ้าน ซื้อขาย บ้าน, รับออกแบบ บ้าน, รวมแบบบ้านแบบ บ้าน, ตกแต่งภายใน บ้าน, interior design ออกแบบ บ้าน, interior รับออกแบบ บ้าน,
Architecture รับออกแบบ บ้าน, ตกแต่งบ้าน, ตกแต่งภายใน, Mudahouse, ตกแต่งภายใน, รับเหมา ก่อสร้างบ้าน, บริษัท ก่อสร้าง
|