อสังหาฯตีปีก กทม.ปล่อยผียื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างตึกสูง ไฟเขียวมอบอำนาจสำนักงานเขตเบ็ดเสร็จ โยนลูก ผอ.สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตเซ็นใบอนุญาตก่อสร้าง-ต่อใบอนุญาตก่อสร้าง ส่วนสำนักการโยธาฯให้มีหน้าที่เพียงแค่ควบคุมดูแลตรวจสอบ และออกเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใหม่ใช้บังคับเท่านั้น ชี้ช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาเหลือแค่ 30 วัน วงการคอนโดฯเฮลั่นเข้าทางพอดี เพราะคอนโดฯ 7-8 ชั้นตามแนวรถไฟฟ้าและย่านใจกลางเมืองกำลังบูม คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.อยู่ระหว่างดำเนินการกระจายอำนาจการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงที่เกิน 5 ชั้น ให้ไปอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายการโยธาฯ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการ กทม. ที่ต้องการกระจายอำนาจจากส่วนกลางของ กทม.ไปให้สำนักงานเขตเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการกระจายอำนาจไปบางส่วนแล้ว เช่น ศูนย์บริหารชุมชน สาธารณสุข งานวิชาการด้านต่างๆ เป็นต้น "เดิมทางเขตจะมีอำนาจออกใบอนุญาตก่อสร้างสูงได้ไม่เกิน 5 ชั้น ส่วนอาคารที่สูงเกิน 5 ชั้นขึ้นไป รวมทั้งอาคารขนาดใหญ่จะต้องขออนุญาตจากสำนักการโยธาฯ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าเรื่องทั้งหมดจะไปรวมอยู่ที่ศูนย์กลาง คือ สำนักการโยธาฯ จึงทำให้การขออนุญาตหรือขอต่ออายุใบอนุญาตล่าช้า เรื่องนี้พูดกันมานานแล้ว แต่ตอนนี้จะทำอย่างจริงจัง คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆ นี้ ขึ้นอยู่กับผู้บริหารของสำนักการโยธาฯว่าจะรับนโยบายนี้ได้หรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะรับได้ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะผู้พิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้หรือไม่ก็มีวุฒิการศึกษาเป็นวิศวกรเหมือนกัน ถ้าไม่มองเรื่องผลประโยชน์คงไม่มีปัญหา" ปลัด กทม.กล่าวว่า ต่อไปผู้ประกอบการหรือเจ้าของอาคารสูงสามารถมาขอใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตได้ที่สำนักงานเขตที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งวิธีการนี้จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย ผลดีก็คือ จะสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จากเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 45 วันทำการ หรือไม่ก็ใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าเรื่องจะเสร็จเรียบร้อย แต่เมื่อมาขอที่สำนักงานเขต เบื้องต้นระยะเวลาจะลดลงเหลือไม่เกิน 30 วัน เนื่องจากเรื่องมาอยู่ที่เขตแล้ว ทางผู้อำนวยการสำนักงานเขตแต่ละเขตจะเป็นผู้ลงนามในใบอนุญาตได้เลย โดยไม่ต้องให้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนลงนาม เพราะส่วนหนึ่งที่เรื่องล่าช้ามาจากขั้นตอนต่างๆ ล่าช้า เพราะใช้เวลานานกว่าเรื่องจะไปถึงผู้ว่าฯ และเสนอใหผู้ว่าฯลงนาม "ตอนนี้มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เยอะมาก ยิ่งช่วงระหว่างรอผังเมืองรวม กทม.ฉบับใหม่ประกาศใช้ สถิติการขออนุญาตยิ่งเยอะ ตัวเลขตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2549 อยูที่ 612 ราย ป ที่แลวมายื่นขอทั้งหมด 1,812 ราย ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะออกใบอนุญาตได้ แต่เมื่อกระจายอำนาจมาให้สำนักงานเขต เรื่องจะรวดเร็วกว่าเดิม" ปลัด กทม.กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์กลางหรือสำนักการโยธาฯนั้น หลังจากที่โอนอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ไปอยู่ที่สำนักงานเขตแล้ว จะมีหน้าที่ดูแลสำนักงานเขตอีกทอดหนึ่ง โดยไม่ต้องออกใบอนุญาตก่อสร้างเอง งานหลักๆ ของสำนักการโยธาฯคือ คอยตรวจสอบการทำงานของเขตแต่ละเขต รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ที่คิดว่าจะให้เขตปฏิบัติ พร้อมกับตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความรัดกุมมากยิ่งขึ้น นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า การกระจายอำนาจถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุญาตให้เร็วขึ้น และทำให้งานของ กทม.กลางลดลง แต่ต้องมั่นใจว่าจะไม่เกิดความล่าช้าขึ้นอีก นอกจากนี้ตนเห็นว่าก่อนจะกระจายอำนาจจะต้องดูความพร้อมของบุคลากรในแต่ละเขตด้วย โดยเฉพาะในบางเขตที่ไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านอาคารสูงอาจจะมีปัญหาได้ เช่น เขตที่เพิ่งจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าตัดผ่าน เพราะเมื่อมีระบบรถไฟฟ้าผ่านพื้นที่ดังกล่าวก็มีการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก จึงต้องเร่งจัดหาบุคลากรให้เหมาะสมกับงานที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น "ในส่วนของผู้ประกอบการอาคารชุดเห็นว่าจะให้ไปยื่นขอใบอนุญาตหรือขอต่อใบอนุญาตที่ไหนก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่ กทม.ต้องระมัดระวังว่าจะไม่เกิดความล่าช้า หรือทำให้แย่ไปกว่าเดิม" นายอธิปกล่าว นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฮาริสัน จำกัด (มหาชน) บริษัทรับบริหารงานขายโครงการอสังหาริมทรัพย์ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แนวนโยบายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูง ขณะเดียวกันจะทำให้ระยะเวลาในการขออนุญาตสั้นลงด้วย เพราะจากเดิมการขออนุญาตที่ส่วนกลางจะใช้เวลาในการออกใบอนุญาตนานกว่า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจงานกับที่ออกใบอนุญาตเป็นคนละส่วน ซึ่งหากมีข้อแก้ไขก็ทำได้ค่อนข้างลำบาก และเป็นสาเหตุของความล่าช้า "ผมมองเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะจะต้องมีการถ่ายโอนบุคลากรในการตรวจแบบลงไปยังพื้นที่เขตต่างๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มความคล่องตัว" นายกิติศักดิ์กล่าว ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การกระจายอำนาจดังกล่าวไปยังสำนักงานเขตจะทำให้ขั้นตอนและระยะเวลาในการออกใบอนุญาตหรือต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่า 5 ชั้นมีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้มาก เนื่องจากปัจจุบันการยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงขนาด 7-8 ชั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าหรือในย่านใจกลางเมือง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดฯโลว์ไรซ์ เนื่องจากคอนโดฯ 7-8 ชั้นนอกจากมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป สามารถปิดการขายได้เร็วแล้ว ในแง่ของต้นทุนการก่อสร้างรวมทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ก็ง่ายกว่า โครงการที่สูงเกิน 7-8 ชั้น หรือมีขนาดใหญ่กว่านั้น
|