โบรกเกอร์บ้านมือสองเหนื่อยหนักปี"48 ยอดขายลดฮวบ 10% เจอสารพันปัญหารุมทั้งราคาน้ำมัน-อัตราดอกเบี้ย-ภาวะเงินเฟ้อ และปมปัญหาการเมืองถล่ม บ่นอุบมาตรการสนับสนุนบ้านมือสองรัฐไม่เวิร์ก ทั้งผู้บริโภค-โบรกเกอร์-เจ้าหน้าที่รัฐมึนหลักเกณฑ์เงื่อนไขไม่ชัดเจน นายอภิชาต อาชาเดช ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ตลาดซื้อขายบานมือสองปี 2548 ชะลอตัวลงอย่างน้อย 10% จากปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนมือประมาณ 6.5 หมื่นยูนิต ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขจดทะเบียนบ้านใหม่ โดยยอดขายที่ลดลงมีสาเหตุมาจากปัจจัยลบด้านราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ความมั่นใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง "ยอมรับว่าการทำตลาดของโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ค่อนข้างหนื่อยกว่าปีที่ผ่านมา เพราะตลาดมีเอฟเฟกต์เยอะมาก ยิ่งการเมืองยังไม่ชัดเจนยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้น" สำหรับมาตรสนับสนุนบ้านมือสองของภาครัฐ โดยการลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนบ้านเหลือ ลดธรรมเนียมการจดจำนอง 0.01% จากเดิม 2% และการยกเว้นอากรแสตมป์ 0.5% ทั้งนี้ ภายหลังมีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามาตรการกระตุ้นดังกล่าวยังไม่เป็นที่ทราบอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคและโบรกเกอร์ ว่ามีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับหากซื้อบ้านมือสองอย่างไรบ้าง ทำให้การซื้อขายบ้านมือสองภายใต้มาตรการสนับสนุนของภาครัฐไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ เช่น คู่สามีภรรยาแต่งงานต่อมาภายหลังได้ หย่าร้างกัน ทั้งสองฝ่ายยินยอมแบ่งสินสมรสโดยการขายบ้านที่อยู่ร่วมกัน จากนั้นก็ไปซื้อบ้านหลังใหม่คนละหลังภายในระยะเวลา 1 ปี ถามว่าในกรณีนี้ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับการลดหย่อนจากมาตรการนี้หรือไม่ ฯลฯ "มีหลายประเด็นที่หน่วยงานรัฐต้องทำความเข้าใจและตอบคำถามประชาชนให้ได้ เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรหากเกิดปัญหาขึ้นตรงจุดนี้ผมมองว่ารัฐต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำให้กับโบรกเกอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นที่จะซื้อบ้านผ่านบริษัทนายหน้า" นายอภิชาตและว่า สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โดยมีกรมธนารักษ์เป็นแกนนำดำเนินการร่วมกับสมาคมนายหน้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.นายหน้าฯ อยู่ระหว่างการตีความในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่เชื่อว่าหาก พ.ร.บ.นายหน้าฯประกาศใช้ จะช่วยยกระดับมาตรวิชาชีพ นายหน้า และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ตลาดบ้านมือสองมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เพื่อรองรับ พ.ร.บ.นายหน้าฯ ที่จะออกมาบังคับใช้ในอนาคต สมาคมตัวแทนนายและอสังหาริมทรัพย์ เปลี่ยนชื่อสมาคมใหม่เป็นสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ใหม่ด้วย นายสมศักดิ์ ชุติศิลป์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.ซี.พี.เฮาส์ซิ่ง จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตนเชื่อว่าปัญหาของมาตรการสนับสนุนบ้านมือสองอยู่ที่ตัวโบรกเกอร์ ผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่สรรพากรยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ในเรื่องการขอคืนภาษีอากรบ้านหลังเก่า เพราะเรื่องนี้เป็นประเด็นใหม่เพิ่งบังคับใช้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าหากทำให้เกิดความเข้าใจให้ตรงกันจะช่วยผลักดันให้ตลาดบ้านมือสองได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่านี้ "ยอมรับว่ามีโบรกเกอร์บางส่วนยังไม่ทราบว่ามาตรการของภาครัฐมีประโยชน์ต่อตลาดได้อย่างไร ตรงนี้ถือเป็นจุดอ่อนมากๆ เพราะหากโบรกเกอร์ไม่มีความรู้ก็ทำให้การขายทำได้ยากขึ้น"
|