เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก และถือเป็นงานที่ท้าทายความสามารถอยู่ไม่น้อย เมื่อภาครัฐและเอกชนประกาศจะผนึกกำลังกันปลุกตลาดบ้านมือสอง พร้อมกับตั้งเป้าจะยกระดับขึ้นมาให้ทัดเทียมกับตลาดบ้านใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว อันเนื่องมาจากปัญหาราคาน้ำมัน กระทบถึงความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่หากทำสำเร็จก็จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงอีกชิ้นหนึ่ง หลังจากเคยได้ใจคนในวงการอสังหา ริมทรัพย์มาแล้ว จากการออกมาตรการกระตุ้นตลาดบ้านใหม่ จนทำให้ธุรกิจอสังหาฯ ฟื้นตัวในช่วงรัฐบาล "ทักษิณ 1" การจัดระเบียบตลาดบ้านมือสองใหม่ทั้งระบบ จึงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่รัฐกำลังขบคิดหาทางแก้ ก่อนจะออกมาตรการเพื่อนำไปสู่ผลในทางปฏิบัติ ในรูปของแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมๆ กับเชื่อมโยงตลาดบ้านมือสองเข้ากับตลาดบ้านใหม่ 9 กันยาฯ ประเดิมมาตรการกระตุ้น "วีระชัย วีระเมธีกุล" กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารัฐบาลชุดนี้มีเจตนาแน่วแน่ที่จะผลักดันตลาดบ้านมือสอง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาหลายด้าน อาทิ ปัญหาเรื่องข้อมูล ที่ปัจจุบันยังไม่มีแหล่งข้อมูล ทำให้ผู้ซื้อขาดข้อมูลในการเปรียบเทียบ ผู้ขายก็ไม่มีข้อมูลกำหนดนโยบายด้านการตลาด การขาย ขณะที่ภาครัฐก็ขาดข้อมูลในการกำหนดนโยบาย ปัญหาเรื่องคนกลาง และตัวแทนนายหน้าที่ยังไม่มีคุณภาพดีพอ ซึ่งในระยะยาวจะกระทบความเชื่อมั่นของ ผู้ซื้อ และผู้ที่ฝากขายบ้าน ปัญหาเกี่ยวกับระเบียบข้อกฎหมายที่ปัจจุบันยังไม่เอื้ออำนวย และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างผลักดันออก พ.ร.บ.คุ้มครองผลประโยชน์ของคู่สัญญา หรือเอสโคร์, พ.ร.บ. ตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ เพื่อพัฒนาให้ตลาดบ้านมือสองเติบโตแบบยั่งยืน "ในระยะสั้นจะเร่งจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับบ้านมือสอง จากนั้นจะเป็นเรื่องสินเชื่อ โดยมี ธอส.เป็นแกนนำหลัก ขณะเดียวกันก็จะเจรจากับแบงก์พาณิชย์ให้ปล่อยสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ ส่วนระยะยาวจะมีการพัฒนากลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง อาทิ โบรกเกอร์ ผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน เช่น จัดตั้งศูนย์ทะเบียนนายหน้า ส่วนการลดภาษีค่าธรรมเนียมขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดูอยู่ หลักๆ จะมีการเชื่อมโยงตลาดบ้านมือสองเข้ากับบ้านใหม่ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับด้านการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย สำหรับมาตรการที่จะออกมาจะพยายามให้ทันวันที่ 9 กันยายนนี้ จะได้รับกับงานมหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติที่จะจัดขึ้นพอดี" ธอส.อัดสินเชื่อ-จัดกิจกรรมปลุกตลาด ตามแผนที่วางไว้การจัดงานมหกรรมบ้านมือสองแห่งชาติ ในระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2548 นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จะเป็นกิจกรรมแรกในการปลุกตลาดบ้านมือสอง "ขรรค์ ประจวบเหมาะ" กรรมการผู้จัดการ ธอส.กล่าวว่า งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นตลาดบ้านมือสอง ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คือ 1.มาตรการด้านการส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์ 2.การจัดทำฐานข้อมูลบ้านมือสอง 3.การสนับสนุนด้านสินเชื่อ ค่าธรรมเนียม ภาษี และกฎหมาย และ 4.การพัฒนาบุคลากรในองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยงานจะแตกต่างจากการจัดงานมหกรรมเกี่ยวกับบ้านมือสองครั้งที่ผ่านๆ มา จะเป็นงานที่มีบริการครบวงจร คือ มีบ้านมือสองให้เลือกจากบริษัทตัวแทนนายหน้ามากถึง 33 บริษัท มีบ้านมือสองในมือของสถาบันการเงิน ที่เรียกว่าสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีเอ บ้านจากกรมบังคับคดี มีบริการประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านมือสอง การให้คำปรึกษาซ่อมแซมบ้าน การให้บริการสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงิน 15 แห่ง การให้คำแนะนำปรึกษาในการซื้อบ้านมือสอง ฯลฯ "งานนี้ ธอส.จะจัดแคมเปญสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านมือสองภายในงานด้วย สำหรับสินเชื่อซื้อบ้านมือสองของ ธอส.ปัจจุบันให้วงเงินกู้ 85% ของราคาประเมิน และให้วงเงินเพิ่ม 100% สำหรับปรับปรุงหรือซ่อมแซม" หลังงานครั้งนี้แล้ว ธอส.จะทยอยจัดตลาดนัดบ้านมือสองทุกๆ เดือน โดยร่วมมือกับสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ของสถาบันการเงินอีกหลายแห่งเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม นอกจากนี้ยังจะจัดงานในลักษณะนี้ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548-เดือนมกราคม 2549 กระจายตามทำเลต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เช่น ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล ซิตี้ บางนา,ฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต, เซ็นทรัล พระราม 2 เป็นต้น เอกชนลุ้นรัฐบูมบ้านมือสอง 5 แสนล. "สมศักดิ์ มุนีพีระกุล" นายกสมาคมตัวแทน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หากรัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนตลาดบ้านมือสองอย่างจริงจัง ตนมั่นใจว่าจะทำให้ตลาดบ้านมือสองคึกคักขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้มาก เพราะจะมีการซื้อขายเปลี่ยนมือมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และส่งผลดีต่อตลาดบ้านใหม่อย่างมาก ซึ่งจะส่งผลในด้านบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องดวย "ที่สมาคมเสนอไปมีทั้งขอให้ลดภาษี ค่าธรรมเนียมโอน ให้มีการจัดระเบียบนายหน้า รวมทั้งขอสนับสนุนด้านสินเชื่อ ที่ปัจจุบันสถาบันการเงินให้สินเชื่อบ้านมือสองประมาณ 70-80% คาดว่าในส่วนของค่าธรรมเนียมภาครัฐอาจจะลดหย่อนให้ เพราะเคยประสบความสำเร็จในการลดหย่อนค่าธรรมเนียมและภาษีกระตุ้นตลาดบ้านใหม่มาแล้ว สำหรับเรื่องสินเชื่อเสนอไปในลักษณะที่ให้สถาบันการเงินให้เครดิตผู้ที่เคยกู้ซื้อบ้าน แล้วขายบ้านหลังเดิมซื้อบ้านใหม่หลังใหญ่ขึ้น เช่น อาจจะให้กู้ในวงเงินที่มากขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับรัฐว่าจะพิจารณาอย่างไรได้เพียงแค่ครึ่งหนึ่งก็ยังดี" โดยหลายฝ่ายคาดหวังว่ามาตรการที่รัฐจะทยอยออกมา จะทำให้บ้านมือสองทั้งระบบที่ศูนย์ข้อมูลของ ธอส.ระบุว่ามีอยู่ประมาณ 4 แสนหน่วย มูลค่ากว่า 5 แสนล้าน หรือมากกว่านั้น ทั้งในมือสถาบันการเงินในรูปของเอ็นพีเอ บ้านในมือโบรกเกอร์ และเจ้าของรายย่อย มีการซื้อขายเปลี่ยนมือมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านมือสองในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ที่ตลาดเติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากรัฐสนับสนุนจะเติบโตขึ้นอีก ทั้งนี้ ล่าสุดในปี 2547 ที่ผ่านมา ธอส.ร่วมกับสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ สำรวจพบว่ายอดการซื้อขายมีประมาณ 131,000 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นของกรมบังคับคดี 63,000 หน่วย ขายผ่านนายหน้าทั่วไป 30,000 หน่วย ขายโดยบริษัทนายหน้า 15,000 หน่วย สถาบันการเงินขาย 13,000 หน่วย และเจ้าของรายย่อยขายเอง 10,000 หน่วย
|