จากภาวะราคาสินค้าภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโครงสร้างรายได้-รายจ่ายไม่สมดุลกัน ซึ่งอาจมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และอาจเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจัดสรรต้องนำไปพิจารณาในการวางกลยุทธ์ กำหนดคุณสมบัติของสินค้าที่จะเสนอขายให้กับลูกค้าต่อไป จากการรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ครัวเรือนไทยมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2547 ครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย 14,617 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2545 ที่มีรายได้ 13,736 บาทต่อเดือน ขณะที่ครัวเรือนมีค่าใช้จ่าย 12,115 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้น 11.3% จากปี 2545 ที่มีรายจ่ายอยู่ที่ 10,889 บาทต่อเดือนแสดงให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายครัวเรือนเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้เกือบเท่าตัว ภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 82.9% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2545 โดยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยานพาหนะเพิ่มสูงขึ้นมาก คิดเป็น17.1% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดของครัวเรือนทั่วประเทศส่งผลให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายลดการใช้จ่ายสินค้าประเภทอื่นลง สำหรับแนวโน้มภาระรายจ่ายของผู้บริโภคในปีนี้ ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยคาดว่าดัชนีราคาสินค้าส่วนใหญ่จะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงปี 2545-2547 โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศโดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามปริมาณการใช้เบนซินและดีเซล คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 19-22% ส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อาจสูงขึ้นมาอยู่ที่ 87% ซึ่งจะเป็นอัตราที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2537 ที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายเคยสูงถึง 91.6% ผลจากภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อส่วนเกินของผู้บริโภคในการใช้จ่ายเพื่อสินค้าอื่น ๆ ลดลง นอกเหนือจากความจำเป็นในการดำรงชีพ รวมทั้งความสามารถในการออมที่ลดลง ดังนั้นถ้าผู้บริโภคที่ต้องการซื้อบ้านนำกำลังซื้อส่วนเกินนี้มาใช้ในการผ่อนชำระการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ก็จะทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระต่อเดือนของผู้ซื้อลดลง รวมทั้งราคาบ้านที่ต้องการซื้อก็ต้องลดลงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยในปีนี้มีอัตราขยายตัวไม่มากนัก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปีนี้จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีประมาณ 63,000 ยูนิต ใกล้เคียงกับปี 2547 ที่มีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จประมาณ 62,796 ยูนิต แต่มูลค่าตลาดจะปรับลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการเสนอขายบ้านในระดับราคาเฉลี่ยต่ำลงกว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีแรงกดดันจากอุปสงค์และอุปทาน อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความยากลำบากมากขึ้นในการวางกลยุทธเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าและกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวและต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ราคาบ้านขยับรับสินค้าแพง ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้รายงานดัชนีที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ทั้งในส่วนของบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ที่ดิน บ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน และทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน พบว่าดัชนีราคาบ้านเดี่ยวอยู่ที่ 149.2 จุด เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว 12.5% ขณะที่ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ อยู่ที่ 127.8 จุด เพิ่มขึ้น 5.2% ด้านราคาที่ดินเปล่าอยู่ที่ 152.9 จุด เพิ่มขึ้น 5.1% ส่วนราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน อยู่ที่ระดับ 151.4 เพิ่มขึ้น 7.9% และทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน อยู่ที่ระดับ 141.6 จุด เพิ่มขึ้น 5.1% โดยสาเหตุที่ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมาจากการปรับเพิ่มตามต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ การจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของแบงก์ชาติใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลหลักประกันของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งมีสัดส่วนเงินกู้ที่อยู่อาศัยประมาณ 40% ของตลาดเงินกู้ที่อยู่อาศัยรวม โดยที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยในกลุ่มที่มีระดับราคาต่ำถึงปานกลาง และเป็นที่อยู่อาศัยที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตรอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยการจัดทำดัชนีราคาที่อยู่อาศัยใน ไตรมาสแรกปีนี้ ใช้ข้อมูลหลักประกันประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ รวมทั้งสิ้น 9,608 รายการ แยกเป็นบ้านเดี่ยว 3,208 รายการ และทาวน์เฮ้าส์ 6,400 รายการ ส่วนดัชนีราคาที่ดินใช้ข้อมูลทั้งสิ้น 14,105 รายการ ด้านราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ย ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น แม้ในช่วง 4 เดือนแรกดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.3% แต่ในช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป คาดว่าสินค้าจะมีการทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นตามภาวะต้นทุน ซึ่งตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาได้มีสินค้าบางประเภท เช่น สีทาอาคาร ผลิตภัณฑ์คอนกรีต กระเบื้อง ทยอยปรับราคาขึ้นไปแล้ว หนี้บัตรเครดิตพุ่งกระฉูด ดร.ยรรยง ไทยเจริญ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากหนี้ภาคครัวเรือนไทยอยู่ในระดับ 7-8 เท่าของรายได้ ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท หรือ 37% ของจีดีพี ในระยะสั้น 2-3 ปียังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์มั่นคง แต่ก็ระบุไม่ได้ว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตหรือไม่ เพราะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.5 ล้านล้านบาท เป็นสินทรัพย์มั่นคงสามารถเป็นหลักค้ำประกัน ที่สามารถนำมาใช้คืนหนี้ได้ หากเกิดวิกฤติจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมทำการศึกษาวิจัยถึงรายละเอียด ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณะเศรษฐศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยโดยรวมไม่น่าเป็นห่วงเพราะหนี้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แบ่งเป็น 47% เป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน 37.1% เป็นการซื้อบ้าน 27% เป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ บัตรเครดิต ที่มีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากเดิมที่ใช้บัตรเครดิตเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ปัจจุบันกลับเป็นแหล่งเงินทุนกู้ยืม นำเงินไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกินวงเงินที่กำหนด. |