การเคหะฯปฏิรูปครั้งใหญ่ ทุ่ม 200 ล้านวางระบบไอที เชื่อมโยงข้อมูลภาคสนามสู่ศูนย์กลาง ลดขั้นตอน บีบต้นทุนให้ต่ำ หวังลับคมฝีมือ ปีหน้าเตรียมงัดที่ดินเก่า 8 พันไร่ ทำเลรอยต่อกรุงเทพฯ ดึงเอกชนพัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์บุกตลาดบ้านระดับกลาง 3-5 ล้านบาท ลดเงื่อนไขเปิดเสรีรับเอกชนรายย่อย ลุยต่อ "เอื้ออาทร" ให้ครบ 6 แสนหน่วยตามนโยบาย "ทักษิณ" นางชวนพิศ ฉายเหมือนวงศ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่มอบหมายให้สร้างบ้านเอื้ออาทร 6 แสนหน่วยแล้วเสร็จภายในปี 2551 ได้เป็นแรงกระตุ้นให้ กคช.เกิดการปรับตัวและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งกลายเป็นผลดีต่อนโยบายนำร่องการปฏิรูปองค์กรในอนาคต "ที่สำคัญนโยบายนี้ถือว่า ดีที่สุดในเชิงสังคมและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง" ล่าสุด กคช.ได้ทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาท จัดซื้อและวางระบบไอที ERP เพื่อเชื่อมโยงและประมวลผลข้อมูลทั่วประเทศ จากหน้างาน 200-300 โครงการให้สามารถแจ้งผลดำเนินงานมายังศูนย์กลางที่คลองจั่นได้แบบวันต่อวัน โดยมีระบบ SAP ช่วยจัดระบบเรื่องการเงินและระบบ GIS ดูแลในเรื่องงานก่อสร้าง คาดว่าทั้งระบบจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2549 "ต่อไปเราจะใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาจับระบบงาน ให้มีรีพอร์ตทุกวัน เมื่อนั้นการเคหะฯจะรู้ว่า ต้นทุนที่แท้จริงและความรวดเร็วของงานในทุกโครงการ เคลื่อนไหวไปอย่างไร จากเดิมวันนี้เราปิดบัญชีได้ต้องใช้เวลาถึง 30 วัน ถ้ามีไอทีเข้ามาช่วย มั่นใจว่าเราจะปิดบัญชีได้ในวันเดียว" นางชวนพิศกล่าวและว่า กคช.ยังมีนโยบายจะทุ่มเทในเรื่องพัฒนาบุคลากรและให้ความสำคัญกับงานบริการมากขึ้น เช่น ระบบคอลเซ็นเตอร์ ส่วนนี้ได้ให้เอกชนเข้ามาจัดระบบสร้างความคุ้นชิน เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ในอีกมิติหนึ่ง "เพราะการเคหะฯต้องสร้างบ้านให้ได้ 60,000 หลังในปีนี้ และอีก 1 แสนหลังในปีหน้า เรียกว่า หายใจทีต้องเป็นบ้านหนึ่งหลัง" นางชวนพิศกล่าวและว่าตั้งแต่ปี 2540-2545 กคช.ขาดทุนมาตลอด เพิ่งมีกำไรเมื่อปีที่แล้ว 300 ล้านบาท ที่สำคัญในปี 2549 กคช.จะรุกโครงการสร้างรายได้ บุกพัฒนาโครงการตลาดระดับกลางอีกครั้ง ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุด ในระดับราคา 3-5 ล้านบาท บนที่ดินเก่าจำนวน 8,000 ไร่ แยกเป็นกรุงเทพฯ 6,000 ไร่ ต่างจังหวัด 2,000 ไร่ ทำเลเด่นๆ อาทิ ร่มเกล้า บางพลี ลำลูกกา ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ในอนาคต เช่น บางพลี จะสามารถรับการขยายตัวของสนามบินสุวรรณภูมิได้ระดับหนึ่ง "ถามว่าเราจะแข่งกับเอกชน หรือเอกชนจะแข่งกับเรา ต้องตอบว่า เราเอื้อกัน อย่างกรณีนี้เราจะร่วมกับเอกชนรายใหญ่ผู้มีความสามารถ ไม่ใช่เคหะฯจะทำคนเดียว คงเป็นไปไม่ได้" นอกจากนี้ กคช. ยังได้ประกาศผ่อนปรนเงื่อนไขเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอจัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรได้อย่างเต็มที่ เป็นการเปิดกว้างและเปิดเสรีให้รายย่อยเข้ามาร่วมงานมากขึ้นในทุกระดับทั้งจังหวัด อำเภอ และตำบล นางชวนพิศกล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้าจะออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อขอความร่วมมือประกาศเงื่อนไขใหม่ที่เปลี่ยนไปของ กคช. ในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย เพื่อแจ้งต่อไปยังภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการทั่วไปที่สนใจยื่นข้อเสนอ จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคโดยเสนอขายให้กับ กคช.ได้ 2 รูปแบบ คือ 1.จัดทำโครงการบ้านเอื้ออาทรพร้อมที่ดินเสนอขาย 2.จัดทำโครงการในที่ดินเช่าจากหน่วยงานรัฐหรือส่วนราชการได้ "บทบาทการเคหะฯ จะเป็นแค่ผู้ตรวจสอบเท่านั้น พร้อมสร้างจูงใจให้เอกชนมากขึ้น เช่น ให้ค่าที่ดินมากขึ้นจาก 50% เป็น 60% หลังตกลงแล้ว และเอกชนไม่ต้องวางเงิน 3% ถ้าทำเอ็มโอยูกันแล้ว เอกชนนั้นๆ สามารถทำพรีเซล (จองสิทธิ์ล่วงหน้า) ได้ทันที ภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่อ่อนตัวลง จะเริ่มวันแรกในวันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป"
|