งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของคนในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย จัดขึ้นที่ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซา ผ่านไปได้ด้วยดี แม้บรรยากาศงานโดยรวมจะดูกร่อยๆ ไปบ้าง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองกำลังร้อน แต่ก็มีผู้เข้าร่วมสัมมนาค่อนข้างจะหนาตาหลังจากที่แบงเกอร์ระดับแนวหน้า ไม่ว่าจะเป็น "ขรรค์ ประจวบเหมาะ" เอ็มดีธนาคารอาคารสงเคราะห์ "กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล" ประธานสมาคมสินเชื่อ และ "ลดาวัลย์ ธนะธนิต" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บรรยายสรุปทิศทางตลาดเงินตลาดทุนในปี 2549 ภาคเช้าแล้ว ภาคบ่ายผู้เข้าร่วมสัมมนาก็มีโอกาสได้รับฟังการวิเคราะห์และให้มุมมองถึงทิศทางของธุรกิจอสังหาฯของดีเวลอปเปอร์ระดับแนวหน้า โดยสรุปวิทยากรบนเวที "ฟันธง" ไปในทิศทางเดียวกันว่า ตลาดอสังหาฯปีนี้จะมีอัตราเติบโตประมาณ 7% ซึ่งเป็นการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวาเหมือนปีสองปีก่อน ส่วนปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบยังเป็นเรื่องเดิมๆ คือราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ และปมขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น "วรรณา ตัณฑเกษม" ประธานสภาที่อยู่อาศัยไทย กล่าวว่าธุรกิจอสังหาฯเวลานี้ยังไม่อยู่ในภาวะถดถอย และไม่เลวร้าย แต่การขยายตัวมีไม่มากเหมือนในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งที่ผ่านมามีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาสู่ธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุนจากประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวรับมือกับภาวการณ์แข่งขันจากต่างชาติมากขึ้นในอนาคต "คนไทยเห็นเงินแล้วตาลุก หากต่างชาติซื้อที่ดินได้ 100% ต่อไปคงไม่มีที่ดินเหลือให้คนไทยซื้อ คงต้องเช่าแทน ดังนั้นหากมีการแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้ก็อยากให้ทุกคนออกมาคัดค้าน" ในส่วนตลาดบ้านมือสองในปีนี้ถือเป็นปีทองที่ได้เปรียบตลาดบ้านใหม่ เพราะมีมาตรการสนับสนุนด้านภาษีจากภาครัฐเข้ามากระตุ้น รวมทั้งมีการจัดงานมหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนได้เลือกซื้อได้ง่ายมากขึ้น คาดว่าตลาดบ้านมือสองปีนี้น่าจะเป็นตลาดทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการซื้อบ้าน "ประสงค์ เอาฬาร" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่า ปีนี้อัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อจะไม่รุนแรงอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะผ่านมาแล้ว 2 เดือน ทิศทางอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้น แต่อยากแนะนำให้ผู้ประกอบการจัดสรรจับตาดูสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด และความขัดแย้ง ความไม่แน่นอนทางการเมืองในขณะนี้ ทำให้เอกชนชะลอการลงทุนไปบางส่วน ไม่กล้าที่จะทุ่มเต็มตัวเหมือนที่ผ่านมา พร้อมๆ กับหันไปเน้นระบายบ้านในสต๊อกเก่าแทน "ที่อยู่อาศัยปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 7% ในเชิงปริมาณ ราคาขายจะไม่เกิน 3 ล้านบาท สัดส่วนการก่อสร้างบ้านเดี่ยวจะอยู่ที่ 30% และทาวน์เฮาส์-คอนโดมิเนียม มีสัดส่วน 70% โดยคอนโดฯราคาไม่เกิน 1 ล้านบวก-ลบยังไปได้อีกนาน" ขณะที่ "สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม" นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ความเห็นว่า ในปีที่ผ่านมาตัวเลขจดทะเบียนบ้านใหม่ยังเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2547 โดยบ้านเดี่ยวมีการจดทะเบียนลดลง ขณะที่บ้านสร้างเองกลับมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่มีจำนวนการขออนุญาตเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดคือคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากราคาน้ำมันแพง ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองใกล้แหล่งงาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แม้ว่าตัวเลขการวิจัยความต้องการของคนไทย จะสะท้อนให้เห็นว่ายังมีความต้องการบ้านเดี่ยวมากกว่าคอนโดมิเนียมก็ตาม "ภาวะเศรษฐกิจและปัญหาทางการเมืองยังมีความเสี่ยงต่อการลงทุนในตอนนี้ ประเด็นคือ เราจะต้องตั้งรับความเสี่ยงนั้นอย่างไร ปัจจุบันเรายังไม่มีข้อมูลกลางที่น่าเชื่อถือได้ โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและประชาชนน้อยมาก เนื่องจากผู้ประกอบการเองไม่ยอมให้ข้อมูลในเชิงลึก ซึ่งอาจมีเหตุผลหลายอย่าง อาทิ กลัวคู่แข่งรู้ข้อมูลแล้วตนเองจะเสียเปรียบ เป็นต้น" ในแง่ของภาคการเงิน เนื่องจากสถานการณ์ด้านการเมืองยังไม่คลี่คลาย จะทำให้สถาบันการเงินมีความวิตกกังวลในการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ผู้ประกอบการจัดสรรจำเป็นต้องทำการบ้านมากขึ้น ทั้งในด้านศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด ฯลฯ "หน่วยงานรัฐก็จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างลง โดยเฉพาะความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการขออนุญาตจัดสรร ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของหลายหน่วยงาน และต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน" สมเชาว์กล่าวทิ้งท้าย ด้าน "อธิป พีชานนท์" นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาคอนโดมิเนียมมีอัตราเติบโตค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ โดยเฉพาะคอนโดฯที่มีพื้นที่ขาย 6 หมื่นตารางเมตรขึ้นไป การลงทุนจึงต้องระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับทำเลด้วย ที่น่าห่วงคือหากโครงการเมกะโปรเจ็กต์เริ่มก่อสร้างในปีนี้ ก็จะส่งผลกระทบทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น อย่างวัสดุก่อสร้างหลักคาดว่าจะปรับราคาขึ้นราว 10% "ปีนี้ต้นทุนสูงแน่ๆ ยิ่งเป็นอาคารสูง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องคำนวณต้นทุนเผื่อความผันผวนไว้ด้วย และขอให้นึกถึงคำว่า...ทำแล้วสวยแบบเรียบง่าย ดูแล้วพอใจ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ เพื่อให้ธุรกิจอสังหาฯทั้งระบบโตน้อยๆ หรือค่อยๆ โตแต่โตนานๆ ไม่ต้องโตแบบก้าวกระโดด"
|