การขานรับนโยบายอนุรักษ์พลังงานขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง การปลุกกระแส "บ้านรักษ์พลังงาน" ด้วยการเปิดตัวโครงการนำร่องส่งเสริมบ้านพักอาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงถือเป็นจังหวะที่เหมาะ และน่าจะได้รับการตอบรับจากคนกรุงเทพฯ รวมทั้งพื้นที่ปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสมัครเข้าร่วมโครงการไม่น้อย โครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมบ้านพักอาศัยเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ "บ้านรักษ์พลังงาน" จัดทำขึ้นเพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการปรับปรุงบ้านให้โปร่งโล่งสบาย โดยสร้างบ้านที่ประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 10% เพื่อลดการใช้พลังงาน ที่นับวันจะหายากและมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯและปริมณฑลมีบ้านพักอาศัยมากถึง 20% ของบ้านพักอาศัยทั่วประเทศที่มีกว่า 18 ล้านหลัง "สาเหตุที่พุ่งเป้าไปที่บ้านพักอาศัย เป็นเพราะจากการสำรวจสถานการณ์พลังงานของประเทศ โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าบ้านพักอาศัยมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าถึง 1 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งล่าสุดการใช้ไฟฟ้าในระบบขึ้นไปสูงสุดถึง 20,744.8 เมกะวัตต์ และมีการประมาณการว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงสุดช่วงหน้าร้อนในเดือนเมษายนที่ผ่านมาถึง 21,657 เมกะวัตต์ ทำให้ปริมาณสำรองที่เคยมี 700 เมกะวัตต์ ลดน้อยลงตามลำดับ" "ประวัติ ถีถะแก้ว" รองอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระบุ ผุดโครงการนำร่องใน กทม.-ปริมณฑล โครงการดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการใช้พลังงาน วิธีการคือ กรมพลังงานทดแทนฯ จะคัดเลือกบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ใน กทม.และปริมณฑล จำนวน 80 หลัง ที่สมัครเข้าร่วมโครงการตามลำดับก่อนหลัง และมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด มาปรับปรุง โดยจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญที่เป็นวิศวกรและสถาปนิกที่นำโดย ผศ.ธนิต จินดาวณิค หัวหน้าทีมที่ปรึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำ เพื่อให้เป็นบ้านอนุรักษ์พลังงาน ในการนี้เจ้าของบ้านที่เข้าร่วมโครงการจะให้การสนับสนุนเงินทุน 30% ของค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดย ผศ.ธณิตกล่าวว่า บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ที่สมัครเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยในรอบ 6 เดือนไม่น้อยกว่า 500 ยูนิต (กิโลวัตต์)/เดือน และต้องยินยอมให้ทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเก็บข้อมูลสำหรับการศึกษาวิจัย ตรวจสอบจำนวนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และติดตั้งเครื่องมือวัดและเก็บอุณหภูมิความชื้นสัมพัทธ์ ในบ้าน ตลอดจนให้ความร่วมมือในการประชา สัมพันธ์โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับขั้นตอนในการปรับปรุงบ้าน เจ้าของบ้านจะต้องว่าจ้างผู้รับเหมาและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านตามแบบหรือคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ภายใน 30 วัน และต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จากนั้นจึงส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายไปขอเบิกเงินสนับสนุนจากกรมพลังงานทดแทนฯ บ้านเอื้ออาทรประหยัดพลังงาน ถือเป็นการริเริ่มที่ดี และน่าจะช่วยปลุกกระแสการอนุรักษ์พลังงานในวงกว้างมากขึ้นอีก จากที่ก่อนหน้านี้เคยให้คณะสถาปัตย กรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาและศึกษาวิจัยโครงการการศึกษาสถานภาพการใช้พลังงานและแนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในบ้าน คือ 1.โครงการบ้านเอื้ออาทรอนุรักษ์พลังงาน ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.)ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม โดยศึกษาจากแบบสถาปัตยกรรม แบบทางวิศวกรรม แบบผังโครงการ แบบสาธารณูปโภคส่วนกลางต่างๆ ของบ้านเอื้ออาทร 6 ประเภท คือ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น อาคารชุด 5 ชั้น รูปแบบ F, F", F1, F1" และ FM อาคารศูนย์ชุมชน โครงการรังสิตคลอง 3 อาทิ บ้านเดี่ยว 2 ชั้น ใช้มาตรการติดตั้งฉนวนหลังคา การใช้ฉนวนใยแก้วหุ้มด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์หนา 4 นิ้ว มาตรการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและดวงโคม การใช้บัลลาสต์กำลังสูญเสียต่ำ อาคารชุดพักอาศัย 5 ชั้น ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและดวงโคม การใช้บัลลาสต์กำลังสูญเสียต่ำ เปลี่ยนหลอดไส้ 60 วัตต์ เป็นหลอดคอมแพ็กต์ฟลูออเรสเซนต์ 9 วัตต์ อาคารศูนย์ชุมชน ติดตั้งฉนวนใยแก้ว หุ้มแผ่นอะลูมิเนียมฟอยล์วางเหนือฝ้าเพดาน ใช้บัลลาสต์ชนิดกำลังสูญเสียต่ำ เปลี่ยนหลอดไฟ เป็นต้น การปรับปรุงโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบทางสถา ปัตยกรรม โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบทางสถา ปัตยกรรม บ้านเดี่ยว 2 ชั้น บ้านแฝด 2 ชั้น ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น อาคารชุดพักอาศัย 5 ชั้น รูปแบบ F และ F1 ด้วยการปรับปรุงวัสดุในส่วนหลังคา ผนังอาคาร อุปกรณ์ไฟฟ้า งานระบบสุขาภิบาล บ้านอยู่สบาย 3 สไตล์ 2.โครงการบ้านอยู่สบายประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นการนำเสนอการออกแบบบ้านภายใต้แนวคิดความอยู่สบายและการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม 3 รูปแบบ 3 ระดับราคา โดยเน้นในเรื่องของความกะทัดรัด พอเพียง การลงทุนที่คุ้มค่าบนพื้นฐานคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ขนาดสัดส่วน และพื้นที่ใช้สอยที่ถูกออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่คำนึงถึงการใช้งาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยวชั้นเดียว แบบ A 52 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอยประมาณ 84 ตร.ม. 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ ห้องรับแขก ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร ห้องครัว ที่จอดรถ 1 คัน ค่าก่อสร้างโดยประมาณ (ปี 2547) 700,000 บาท บ้านเดี่ยวชั้นเดียว แบบ B 63 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอย 135 ตร.ม. 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ห้องรับแขก ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร ห้องครัว ที่จอดรถ 1 คัน ค่าก่อสร้าง 1.38 ล้านบาท บ้านเดี่ยวชั้นเดียว แบบ C ขนาด 52 ตร.ว. พื้นที่ใช้สอย 183 ตร.ม. 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ ห้องรับแขก ส่วนนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร ห้องครัว ที่จอดรถ 2 คัน ค่าก่อสร้าง 1.68 ล้านบาท 3.โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในบ้านที่อยู่อาศัย เพื่อทบทวนและศึกษาสถานภาพการใช้พลังงานในระดับประเทศ ศึกษาโครงการด้านอนุรักษ์พลังงานทั้งในและต่างประเทศ แล้วกำหนดความสำคัญของมาตรการเบื้องต้นที่ควรส่งเสริม คือ มาตรการด้านวัสดุก่อสร้างและฉนวน และมาตรการด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยศึกษาวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์เครื่องใช้ อาทิ อิฐมอญ คอนกรีตบล็อก คอนกรีตมวลเบา กระจกตัดแสง ยิปซัมบอร์ด พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ หลอดคอมแพ็กต์ และหลอดฟลูออเรสเซนต์ บัลลาสต์ เป็นต้น ทั้งหมดคือทางเลือกใหม่ในการอนุรักษ์พลังงานที่คนไทยต้องตระหนักและให้ความสำคัญมากขึ้น |