นับถอยหลังจากนี้ไปอีกประมาณ 3 เดือน สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของไทย จะได้ฤกษ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ นอกเหนือความสวยงามทางด้าน สถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานระหว่างความทันสมัยและสถาปัตยกรรมไทย ความล้ำยุคของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และขนาดพื้นที่ที่ใหญ่โตหรูหรา ติดอันดับต้นๆ ของสนามบินนานาชาติทั่วโลกแล้ว ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่เพิ่มความสง่างามให้กับสนามบินแห่งใหม่ที่เป็นของชาวไทยทุกคน เรากำลังนำท่านผู้อ่านไปเยี่ยมชมการจัดวางแลนด์สเคป ในส่วนที่เป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่ที่จัดไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวนักเดินทางได้พักสายตา ในพื้นที่ 2 จุด ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเทอร์มินอลหรืออาคารที่พักผู้โดยสาร ที่เรียกว่า "ซิตี้ การ์เด้น" และ "คันทรี่ การ์เด้น" ที่จะสะท้อน ภาพให้เห็นถึงความเป็น "เมือง" และ "ชนบท" ในแบบไทยๆ จุดมุ่งหมายก็เพื่อบอกเล่าความเป็นไทยให้คนต่างชาติได้รู้จักเมื่อเดินทางมาเยือน "ชัยรัตน์ สุระจรัส" กรรมการผู้จัดการ สำนักงานออกแบบระฟ้า และ "เลิศฤทธิ์ นิธิไขโย" กรรมการบริหาร 2 ภูมิสถาปนิกชื่อดัง ในฐานะเป็นผู้ออกแบบและจัดวางแลนด์สเคป "ซิตี้ การ์เด้น" และ "คันทรี่ การ์เด้น" ให้กับบริษัทท่าอากาศยานสากลนานาชาติแห่งใหม่ หรือ บทม. บอกเล่าถึงที่มาและคอนเซ็ปต์ของสวนขนาดใหญ่ที่จะช่วยทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ มีความเป็นธรรมชาติ สวยงามสบายตา แต่แฝงไว้ด้วยนัยหลายๆ อย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย "ซิตี้ การ์เด้น" เป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่ เนื้อที่ 17 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณด้านขวาของอาคาร เทอร์มินอล เป็นสวนที่ผู้ออกแบบต้องการ จะสื่อถึงความเป็นเมือง เรื่องการตั้งเมือง ตามคติความเชื่อของคนในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งคนไทย เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของจักรวาล ดวงดาว การมีชีวิตผูกพันหรือเกี่ยวข้องกับน้ำ ฯลฯ การจัดวางผังของสวนจึงมีการดึงเอาเรื่องเกี่ยวกับจักรวาล และแคแร็กเตอร์ของน้ำ พร้อมกับนำเรือไทยหลากหลายแบบเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการตกแต่ง ขณะเดียวกันก็นำรูปลักษณ์และลักษณะลายไทยเป็นแพตเทิร์น โดยตกแต่งและปลูกต้นไม้ทั้งใหญ่เล็กตามแพตเทิร์นลายไทย เพียงแต่ปรับให้มีความเป็นอินเตอร์อยู่ในตัว มองจากมุมสูงหรือบนอาคารที่พักผู้โดยสารบริเวณชั้น 3 หรือชั้น 4 ลงมาจะเห็นสวน "ซิตี้ การ์เด้น" มีลักษณะคล้ายๆ ผ้าลายไทย แต่แทนที่จะเป็นลวดลายที่แต่งลงบนผ้า ก็เป็นการตกแต่งสวนโดยอาศัยไม้ใบไม้ดอก กระถางต้นไม้รูปทรงต่างๆ มาผสมผสานกัน ให้ดูเสมือนหนึ่งว่ามีดาวหลายดวงล้อมรอบจักรวาล ซึ่งยากกว่า แต่ยากขึ้นอีกเมื่อไม้ดอก ใบไม้ทั้งใหญ่เล็กที่จะนำมาปลูกไว้ในสวนหย่อม จะต้องเป็นพรรณไม้ที่ไม่ดึงดูดทั้งแมลง นก หนู ฯลฯ เช่น ต้นพระยาสัตบรรณ ต้นหมาก และไม้ไทยชนิดอื่นๆ สาเหตุเพราะการนำพรรณไม้ที่ดึงดูดนก หนู และแมลง นอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาแล้ว ยังเป็นปัญหาต่อการบิน การคัดเลือกพรรณไม้ต่างๆ ที่นำมาปลูกในบริเวณสนามบินต้องมีความพิถีพิถันเป็นพิเศษ ส่วน "คันทรี่ การ์เด้น" ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่ง เทอร์มินอลขนาดพื้นที่ 17 ไร่เท่ากัน คอนเซ็ปต์ ในการวางผังและตกแต่งต้องการจะบอกเล่าให้เห็นถึงความเป็นชนบท หรือท้องถิ่นไทย ด้วยการจำลองภูเขา แม่น้ำ ทะเล ท้องนา แปลงเกษตรกรรม เข้ามาไว้ โดยให้ความสอดคล้องกลมกลืนกับสวนส่วนที่เป็น "ซิตี้ การ์เด้น" และพยายามให้มีความเป็นโมเดิร์นอยู่ในตัวไป พร้อมๆ กัน ใน "คันทรี่ การ์เด้น" จึงมีทั้งแม่น้ำ ภูเขา ทะเล นาข้าว ฯลฯ ที่ถูกจำลองให้ดูคล้ายๆ ของจริง จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนและเตะตาคือภูเขาทองลูกใหญ่ ที่รายล้อมด้วยภูเขาเล็กๆ หลายสิบลูก มีฝูงนกจำลอง ที่ไหวไปมาเมื่อต้องลม เสมือนฝูงนกกำลังโบยบินอยู่บนท้องฟ้า นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เรียกว่า "จิงเกิล ซิตี้" ที่อยู่บริเวณด้านในของตัวอาคารเทอร์มินอล คอนเซ็ปต์จะเป็นสวนป่า ซึ่งบริษัทภูมิสถาปนิกอีกรายหนึ่งเป็นผู้ออกแบบและวางผัง ทั้งหมด คือ สีสันธรรมชาติที่ถูกแต่งเติมไว้ในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อความรื่นรมย์ของสายตาและอารมณ์เท่านั้น เพราะอยู่ในพื้นที่ต้องห้ามที่บุคคลภายนอกไม่สามารถจะเข้าไปได้ เพียงแต่นักท่องเที่ยวนักเดินทางจะยลโฉมได้จากบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ของอาคารเทอร์มินอล
|